รมว.เกษตรฯ เผย 5 เดือนของการทำงานเร่งแก้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่บาทแข็งฉุดราคายาง เดินหน้าแก้ผลผลิตล้นตลาด-ต้นทุนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 26, 2018 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงาน MEET the PRESS "ปฎิรูปภาคการเกษตร" ว่า การทำงานตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ได้ดำเนินงาน 15 โครงการสานต่อจากรัฐมนตรีคนเก่า เช่น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ที่ปีนี้เพิ่มขึ้น 20% จากที่มีอยู่แล้ว 3,800 แปลง โดยใช้หลักการการตลาดนำการผลิต พร้อมดึงภาคเอกชน ประชารัฐ มาเป็นคู่ค้าโดยตรงกับเกษตรกร ซึ่งพบว่าภาคเอกชน เป็นคู่ค้ากับเกษตรกร ถึง 264 แปลงแล้ว

สำหรับโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีงบประมาณถึง 24,000 ล้านบาท ใน 20 โครงการ ก็ดำเนินการไปได้ด้วยดี รองบประมาณลงไปสนับสนุน โดยในอีก 3-4 เดือนนี้เกษตรกร จะมีเงินคนละ 1 ,200 บาท เกิดการจ้างงาน ถึง 2.3 ล้านคน

"การทำงานตลอด 5 เดือนที่ผานมา ยืนยันว่า รายได้เกษตรกรไม่ได้ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลทำให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพไม่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น"

ส่วนปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ นายกฤษฎา ยอมรับว่า มาตรการลดการส่งออกยางพารา ครั้งที่ 5 ซึ่งสิ้นสุดมาตรการเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเจอปัญหาเงินบาทแข็งและเกิดการปล่อยข่าวในตลาดจนทำให้ราคายางแกว่งไปมา ดังนั้นการจะออกมาตรการครั้งต่อไปจะทบทวนอย่างรอบคอบ และพูดคุยกับนักธุรกิจการยางอย่างชัดเจน

"ราคายางพาราล่าสุด ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐบาลมีนโยบายนำผลผลิตไปใช้ในประเทศมากขึ้น ทั้งทำการถนนของกระทรวงคมนาคม และมหาดไทย โดยตั้งเป้าว่าปีนี้ จะให้หน่วยงานของรัฐนำยางไปใช้ 2 แสนตัน ซึ่งพบว่าในเดือนมกราคม จนถึงขณะนี้ มีการซื้อน้ำยางไปแล้ว 3 หมื่นตัน เชือว่าในเดือนพฤษคมถึงมิถุนายน จะมีการซื้อน้ำยางเพิ่มขึ้น ถึง 1 แสนตัน และมั่นใจว่าสิ้นเดือนกันยายน จะมีการซื้อน้ำยางตามเป้าที่วางไว้ 2 แสนตัน"

ด้านมาตรการแก้ปัญหาราคายางพารา กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ ให้มีคณะกรรมการกำหนดราคายางโดยให้แบ่งเป็น 3 ฝ่าย มีตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชาวสวนยางภายหลังไทยได้ประกาศยางพาราเป็นสินค้าควบคุม และประกาศเป็นราคามาตฐานในการรับซื้อ นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องนี้ไปหารือ กับ สภาไตรภาคียางพารา ที่ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีความเห็นร่วมกันว่า จะเชิญทางประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย เนื่องจากเวียดนามมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำหนังสือไปยังเวียดนามแล้ว รอการตอบรับ นอกจากนี้ ยังมีการหารือกันว่า ในกลุ่มประเทศสมาชิก ควรมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคายางระหว่างประเทศ คล้ายกับกลุ่มโอเปค ซึ่งในทุกประเทศเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นแล้ว โดยจะมีการประชุมอีกครั้งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดหวังให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายโค่นต้นยางพาราทิ้ง เว้นแต่ในกรณีต้นยางมีอายุ 25-30 ปี เกษตรกรชาวสวนยางจะโค่นยางเพื่อปลูกใหม่เท่านั้น

รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงผลผลิตทุเรียนในประเทศ ภายหลังรัฐบาลจับมือกับบริษัทอาลีบาบา นำทุเรียนไปขายผ่านทางเว็บไซด์ทีต์ Tmall.com ว่า ผลผลิตทุเรียนไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตรวมทั้งปี 7 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน จึงประเมินว่าราคาทุเรียนปีนี้ จะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แม้จะไม่เกี่ยวกับการสั่งซื้อผ่านช่องทางของอาลีบาบา ราคาทุเรียนในประเทศก็ยังสูงขึ้น

ทั้งนี้ยังขอความร่วมมือเกษตรกรไม่นำทุเรียนอ่อนออกมาขาย โดยทางกระทรวงเกษตรฯ จะควบคุมผลผลิต โดยการส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ธกส.ในการลงไปทำความเข้าใจกับเกษตกร ว่าต้องตัดทุเรียนที่แก่ ได้ขนาด ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่พบว่า ปีที่ผ่านมาขายทุเรียนอ่อน เพียง 3 % เท่านั้น จากผลิตทั้งหมด

นายกฤษฎา เปิดเผยถึงการหารือกับสหรัฐฯในประเด็นการเปิดการนำเข้าสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง ว่า ไทยยอมรับที่จะปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นประเทศการค้า และสมาชิกขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CODEX แต่ไทยก็ต้องพิจารณาว่าการบริโภคเนื้อหมูของคนไทย แตกต่างกับทางสหรัฐ และยุโรป เนื่องจากสหรัฐ บริโภคเฉพาะเนื้อหมูเท่านั้น แต่ไทยบริโภคทุกส่วนของหมู จึงเป็นประเด็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาศึกษาพฤติกรรมการบิโภคหมูของคนไทย อีกครั้งหนึ่ง ว่าจะมีผลกระทบต่อสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ โดยคาดใช้เวลาประมาณ 1 ปี


แท็ก รัฐมนตรี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ