ก.อุตฯลงพื้นที่ระยอง ชักชวน รง.อลูมิเนียมผู้ผลิตรายใหญ่ ขยายการลงทุนเพิ่มใน EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 5, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจการของบริษัท UACJ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในกลุ่มอาเซียน เตรียมชักชวนให้ขยายการลงทุนเพิ่ม พร้อมทาบทามให้บริษัทฯเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสมดุล โดยสร้างการเติบโตจากภายใน โดยให้น้ำหนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากการรับจ้างผลิตสินค้าต้นทุนต่ำใช้แรงงานราคาถูกสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมผู้ผลิต การจัดตั้งสถาบันวิจัย ดึงดูดนักวิจัย การดึงนักลงทุนชั้นนำจากต่างประเทศ และความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่ากลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นคือเป้าหมายสำคัญที่ต้องการพูดคุยและชักชวนให้มาร่วมขยายโอกาสในการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทั้งนี้

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด (ที่มา : กองความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ข้อมูลรายเดือนสะสมระหว่าง มกราคม – ธันวาคม 2560)

"ในส่วนของบริษัทUACJ เป็นบริษัทหนึ่งที่เรียกได้ว่ามีความพร้อมสูง เนื่องจากเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความสามารถในการวางแผนธุรกิจ และความรู้ความเข้าใจในสถานที่ปฏิบัติงานที่ได้บ่มเพาะมาเป็นเวลานานที่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น และนำมาพัฒนาต่อยอดที่ประเทศไทย โดยที่ทางบริษัท UACJ ก็มุ่งที่จะเติบโตเป็นบริษัท ที่ให้บริการสินค้าคุณภาพสูงแก่ลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปพร้อม ๆ กับเป็นบริษัทที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักในประเทศไทยด้วย"ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า สิ่งที่กรมฯ เล็งเห็นจากบริษัทฯ คือ ศักยภาพของความเป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตอลูมิเนียมที่มีคุณภาพ โดยที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตอลูมิเนียมต้นน้ำรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมค่อนข้างสูง ในการถ่ายทอดกระบวนการผลิตจริง และเมื่อดูโครงการที่เกี่ยวกับกรมฯ แล้วจะเห็นว่าหากเราสามารถชักชวนให้บริษัทฯ เข้ามาให้ความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตในด้านชิ้นส่วนยานยนต์ หรือชิ้นส่วนอลูมิเนียมในรูปแบบของโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) ก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมาก

"หากบริษัทฯ เข้ามาร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother ก็จะช่วยลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้กับเอสเอ็มอีภาคการผลิตของไทยได้อย่างมาก ซึ่งเท่าที่ทราบทางบริษัทฯ ก็สนใจที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งในวันนี้ทางด้านของประธานบริหารของบริษัทฯ UACJ ประจำประเทศไทย คือ คุณฮิโรโนริ ทัตซึชิยะ ได้มาร่วมหารือด้วยตนเองด้วยจึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะหารือกันในเรื่องนี้" อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

สำหรับ UACJ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทลูกของ UACJ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการระหว่างฟูรูกาว่าสกาย กับบริษัท ยูไนเต็ดซึมิโตโมไลท์เมททอล ประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ด้วยงบประมาณกว่า 27,000 ล้านบาท ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (จังหวัดระยอง) พื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร มีกำลังผลิตอยู่ที่ 180,000 ตันต่อปี โดยกระบวนการผลิตเริ่มตั้งแต่ การหลอม การหล่อ รีดร้อน รีดเย็น การเตรียมผิว การเคลือบผิว จึงทำให้เป็นโรงงานผลิตอลูมิเนียมครบวงจรที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกในภูมิภาคนี้ โดยมีตลาดการส่งออก 60% ในกลุ่มประเทศ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน ตะวันออกกลาง ไต้หวัน ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอื่น ๆ และขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมในเฟสที่ 3 ซึ่งคาดว่าหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตจากเดิมเป็น 320,000 ตันต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ