(เพิ่มเติม) สนง.สลากฯ เปิดประชาพิจารณ์"สลากรวมชุด"เสียงส่วนใหญ่หนุน หวังแก้ปัญหาผูกขาด-ขายเกินราคา คาดขายงวดแรก 16 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 7, 2018 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ กล่าวในการจัดสัมมนา "ประชาพิจารณ์สลากรวมชุด" ว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าถึงเวลาแล้วที่สำนักงานสลากฯ ควรจัดทำสลากรวมชุดเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากการผูกขาดโดยพ่อค้าคนกลาง แต่ขอให้สำนักงานสลากฯ หาแนวทางในการกระจายสลากอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และควรมีการตรวจสอบการจำหน่ายที่รัดกุม เช่น แอพพลิเคชั่นตรวจสอบจุดจำหน่าย หรือเปิดรับแจ้งเบาะแสการจำหน่ายสลากเกินราคาแบบทันที(real time) ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียยอดนิยมต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาชน แม้จะเห็นด้วยในความพยายามหลายๆ ด้านของคณะกรรมการสลากฯ ในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อกังวลใจว่าการทำสลากรวมชุด อาจจะทำให้ประชาชนซื้อสลากมากขึ้น ควรจะหาทางสลายการรวมชุดจะดีกว่า หรือไม่ก็แก้ปัญหาด้วยการออกรางวัลที่หนึ่งหลายๆ ครั้ง ซึ่งการทำรางวัลใหญ่ให้เล็กลงและมีการกระจายรางวัลมากขึ้น น่าจะลดแรงจูงใจในการซื้อสลากชุดของประชาชนได้ดีกว่าการทำสลากรวมชุดเอง

สำหรับในส่วนของการประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ขณะนี้ มีผู้สนใจแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว 1,762 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล กว่าร้อยละ 70 เห็นว่าควรทำสลากรวมชุด แบบชุด 5 ใบ ราคาชุดละ 400 บาท และต้องการซื้อสลากแบบรวมชุดจากผู้จำหน่ายที่มีจุดจำหน่ายประจำ และมีบัตรตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล www.glo.or.th และผ่านตู้ ปณ. 22 ปณ.นนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561

นอกเหนือจากการจัดสัมมนาในวันนี้แล้ว ตนและคณะจะเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ต่อจากนั้น ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 จะเดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 โดยจะไปจัดสัมมนาโครงการนี้ครั้งสุดท้ายที่จังหวัดเลย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 และจะใช้เวลาที่เหลือในการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ จนครบ 3 เดือน ก่อนจะนำความคิดเห็นที่ได้มารวบรวมและกลั่นกรองนำเสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ โปร่งใส รัดกุม ในการทำสลากชุดที่ทันสมัยแบบมืออาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความเหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป

"คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและผู้บริหาร ได้ดำเนินการตาม Roadmap 3 ระยะ ในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการดำเนินการตามกลไกตลาด ด้วยการเพิ่มสลากเข้าสู่ตลาด โดยมุ่งหวังให้ปริมาณสลาก(supply) สอดคล้องกับความต้องการ (demand) รวมทั้งกระจายสลากผ่านโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เปิดให้ทำรายการผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย ก่อนจะนำไปสู่ roadmap ระยะที่ 3 คือการแก้ไขปัญหาสลากอย่างยั่งยืน เพื่อให้เงินของผู้ซื้อสลากฯกลับมาพัฒนาประเทศ ไม่ให้ตกอยู่ในกระเป๋าคนใดคนหนึ่ง จึงนำมาสู่กระบวนการในการจัดทำประชาพิจารณ์การจำหน่ายสลากแบบรวมชุด การคัดเลือกผู้ขายเพื่อควบคุมการจำหน่ายไม่ให้เกินราคา"

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะนำสลากจำนวน 20 ล้านฉบับ มารวมชุด ชุดละ 5 ฉบับ คิดเป็น 4 ล้านชุด ส่วนอีก 60 ล้านฉบับจะขายแบบใบเดี่ยวเหมือนเดิม โดยสลากรวมชุดจะเป็นการนำสลากแบบใบเดี่ยว ราคา 80 บาท มารวมเป็นชุด 5 ใบ ซึ่งขายได้ง่ายกว่าแบบใบเดียว ราคา 400 บาท และตรงกับความต้องการของประชาชนมากกว่า โดยคาดว่าจะสามารถจัดจำหน่ายสลากรวมชุดได้เร็วที่สุดภายในวันที่ 16 ก.ค. 2561

สำหรับข้อเสนอเรื่องการขอให้มีการปรับเพิ่มโควตาสลากฯ สำหรับผู้ค้ารายย่อย จากปัจจุบันได้รายละ 5 ชุดนั้น รัฐบาลขอยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายในการปรับเพิ่มโควตาดังกล่าวแต่อย่างใด โดยยังเป็นไปตามนโยบายเดิมทั้งหมด

ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เห็นด้วยกับการทำสลากรวมชุด เพราะเป็นการตัดสินใจที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด และเห็นว่าควรนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจำหน่ายสลากฯ แทนที่จะออกสลากดั้งเดิมแบบในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ