(เพิ่มเติม1) ครม.สัญจร รับทราบโครงการและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างด้านการเกษตร-การท่องเที่ยว-การค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2018 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ว่า ผู้แทนภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดได้ขอเสนอกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ดังนี้ 1) ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย สำหรับการพัฒนาการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เช่น พัฒนาแก้มลิงในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำใกล้เคียงเพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชัยภูมิ

"เพราะในพื้นที่อีสานตอนใต้ฝนแล้ง ถ้าฝนตกหนักก็เก็บกักน้ำไม่ได้เพราะสภาพดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ มีความเค็มของเกลือโปรแตสค่อนข้างมาก ถ้าเจาะเอาน้ำบาดาลมาก็ได้น้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะน้ำมีความเค็ม ประกอบกับอ่างเก็บน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่ไม่มีอยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการพัฒนาแก้มลิงในพื้นที่จึงเป็นทางออกที่น่าจะเหมาะสม ซึ่งรวมถึงสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำด้วย เพราะเน้นการจัดเก็บน้ำในแก้มลิง ไม่ให้น้ำไหลไปท่วมพื้นที่ด้วยประตูระบายน้ำ"

นอกจากนี้จะมีการสร้างประตูระบายน้ำที่ลำน้ำเชิญ ลำน้ำห้วยซาง เพื่อจะกระจายพื้นที่ชลประทานออกไป เพราะพื้นที่อีสานใต้มีพื้นที่ชลประทานแค่ 6.61% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในอีสานใต้

สำหรับการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องของอาคารบังคับน้ำ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้อมูลจากเลขาธิการสำนักบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ และอธิบดีกรมชลประทาน ได้รับคำตอบว่าถ้าดูจากความต้องการของภาคเอกชนที่ผ่านการคัดกรองของจังหวัดขึ้นมาแล้ว มีทั้งสิ้น 84 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 3,476 ล้านบาทเศษ ได้คำตอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่า 40 โครงการ วงเงินประมาณ 1,015 ล้านบาทสามารถดำเนินการได้เลย ส่วนที่เหลืออีก 44 โครงการ มีลำดับความเร่งด่วนไม่สูงมากนัก และความพร้อมในการทำโครงการยังไม่เต็มที่ จึงจัดไปไว้ในแผนปี 62-64 รวมงบประมาณ 2,461 ล้านบาท

2) ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วยโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา โครงการโลกของช้าง Elephant World จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถาม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาว่า มีแนวทางในการพัฒนาเรื่องนี้อย่างไร รมว.ท่องเที่ยวฯได้ชีแจงว่า พื้นที่อีสานตอนใต้ใช้สโลแกนว่า "เที่ยววิถีอีสานใต้ร่วมสมัย" คือเอาภาคปัจจุบันและภาคอดีตมาผสมผสานให้มีความลงตัว และจะโปรโมท Slow Traveling หมายความว่านักท่องเที่ยวจะไม่มาดูแบบผ่านๆ แต่จะดูรายละเอียดของแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ มีการรายงานข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวที่มาพื้นที่อีสานใต้ เป็นคนไทยประมาณ 12-13 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 แสนคน เพราะฉะนั้นแนวทางจะรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก แต่ก็จะไม่ลืมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ในอีสานใต้ทั้งหมด 4 จังหวัด มีแค่ 20 ชุมชนเท่านั้นที่สามารถรองรับการท่องเที่ยได้อย่างจริงจัง กล่าวคือ มีโฮมสเตย์ มีโรงแรม มีความพร้อม ส่วนที่เหลือรองรับนักท่องเที่ยวได้แค่ผ่านๆ สิ่งที่กระทรวงท่องเที่ยวฯจะทำคือ ทำให้ชุมชนทั้ง 20 ชุมชนจับมือกับบริษัททัวร์ เพื่อสร้างแพ็คเกจการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งน่าจะได้เห็นปริมาณการท่องเที่ยวอีสานใต้มากขึ้น

ส่วนเรื่อง MOTO GP เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง จะต้องเตรียมการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการเตรียมรถ Shuttle Bus จากสนามบินมายังสนามการแข่งขัน นอกจากนี้จะมีทางรถไฟที่ใช้ขนส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบินมายังสนามแข่งขัน ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติยังส่งเสริมเรื่องพื้นที่ป่าในเมือง รวมเรื่องทั้งหลายเหล่านี้น่าจะทำให้ นักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาอีสานใต้มาก

นอกจากนี้ สนามการแข่งขัน MOTO GP จะเป็นจุดกระจายนักท่องเที่ยวเพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ทั้งสุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา และแม้จะมีโรงแรมที่พักจำนวนมาก แต่ก็ได้ประสานงานให้มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับกางเต๊นท์ รวมทั้งห้องอาบน้ำ ห้องสุขาให้เพียงพอ

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้น ได้มีการเสนอโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ โดยทางบกหรือทางถนนนั้น มีการเสนอ 14 โครงการ เช่น การก่อสร้างถนนเพิ่มเติม, การขยายช่องทางจราจรเป็น 4 ช่องทาง และการก่อสร้างเกาะกลางถนนเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ

"ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้รับไปพิจารณา โดยดูจากความเหมาะสมและจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ด้วยทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศควบคู่กัน" นายณัฐพรกล่าว

พร้อมระบุว่า ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ในระหว่างปี 2557-2561 ได้ใช้งบประมาณสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนไปแล้ว 52,876 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 62 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 14,588 ล้านบาท

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้เร่งรัดศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อโครงการขยายทางวิ่งสนามบินบุรีรัมย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 3,000 เมตร รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ขนาด 2 ชั้น ซึ่ง ครม.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาความเหมาะสมและคุ้มค่า

"ท่าอากาศยานบุรีรัมย์นั้น ครม.เห็นความสำคัญว่าจะต้องขยายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทางวิ่งรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ได้พร้อมกัน 2 ลำ กระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มเติมเป็น 6 ลำ จะแล้วเสร็จมิ.ย.ปีนี้ ขณะเดียวกันได้ต่อเติมอาคารผู้โดยสารขาออกให้รองรับผู้โดยสารได้ 450 คน ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว" นายณัฐพรระบุ

ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดนนั้น ได้เสนอโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยที่ประชุมได้ขอให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การมหาชน ไปศึกษาความเหมาะสมร่วมกับภาคเอกชนว่าควรจะก่อสร้างที่นครราชสีมาหรือไม่, โครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ และเปลี่ยนโหมดขนส่ง Korat ICD, โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์เพื่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมไปถึงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองรับไปดำเนินการ และให้คำนึงถึงการพัฒนาตามแนวทางของ Smart City ด้วย

"กรณีสนามบินสุรินทร์นั้น ครม.ให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ก่อน เพราะปัจจุบันระยะทางจากสุรินทร์มาถึงสนามบินบุรีรัมย์ประมาณ 70-80 กม.เท่านั้น ดังนั้นต้องดูว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะสร้างสนามบินในตอนนี้ และถ้ายัง จะมีวิธีการเชื่อมโยงสุรินทร์กับสนามบินบุรีรัมย์อย่างไรบ้าง เช่น การเชื่อมโยงทางถนนด้วยการขยายช่องจราจร" นายณัฐพร กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน และเป็นการพิจารณาทุกอย่างตามขั้นตอนความเหมาะสม ทั้งในแง่ของความเร่งด่วน ความจำเป็น งบประมาณและความคุ้มค่าที่จะเกิดกับพื้นที่และประชาชน โดยโครงการที่พิจารณานั้นจะครอบคลุมทั้งเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ยกระดับการเกษตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทั้งนี้การลงพื้นที่ของรัฐบาลได้ทำการบ้านและมีข้อมูลแผนงานการพัฒนาในภาพรวม และบางโครงการได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนเรื่องใหม่นั้นทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณาและเสนอกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง ซึ่งทุกอย่างมีความรอบคอบบูรณาการและเหมาะสมที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ