ส.องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ค้านสหพันธ์ขนส่งฯ ขึ้นราคาค่าขนส่งทุกประเภท ชี้ไม่สมเหตุสมผล-ซ้ำเติมประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2018 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงการณ์เรียกร้องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม ม.19 ประกอบ ม.22 แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 ในการกำหนดลักษณะของการขนส่งไม่ประจำทาง กำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นในขนส่ง และสามารถวางมาตรการในการกำหนด อนุญาต เพิกถอนการอนุญาต และการควบคุมกิจการขนส่งทางบกได้อีกด้วยนั้น ได้สั่งการให้ระงับการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งทุกประเภทตามที่สหพันธ์ขนส่งฯได้ประกาศขึ้นราคาไปแล้วนั้นเสีย และให้ดำเนินการเอาผิดผู้ประกอบการขนส่งต่าง ๆ ดังกล่าวที่ฝ่าฝืนและดำเนินการไปโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้คืนเงินค่าขนส่งที่เก็บไปแล้วก่อนหน้านี้ทุกบาททุกสตางค์ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าและบริการที่จะพาเหรดกันขึ้นราคาอันเนื่องมาจากการปรับราคาค่าขนส่งขึ้นดังกล่าวด้วย

อนึ่ง หากข้อเรียกร้องนี้ไม่ดีรับการตอบสนองภายใน 30 วันสมาคมฯจะถือว่ากระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ส่อเจตนาในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชน อันส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) 2542 ซึ่งสมาคมฯจะขอใช้สิทธิในการร้องเรียนและยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและหรือศาลทุจริตคอรัปชั่นต่อไป

การเรียกร้องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมีมติปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าทุกประเภทร้อยละ 5 โดยมีผลตั้งแต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยอ้างว่าการปรับราคาขึ้นครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมเสียก่อน เพราะการประกอบการขนส่งรถบรรทุกเป็นลักษณะของการขอใบอนุญาตประกอบการ ไม่ใช่การขอรับสัมปทาน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าและบริการทั่วประเทศมีภาระต้นทุนเพิ่มมากขึ้น และจะมีการผลักภาระทั้งหมดไปให้กับผู้บริโภคหรือประชาชนรับผิดชอบโดยการขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทั้งๆ ที่ข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งในครั้งนี้ไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด อาทิ 1)ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มลิตรละ 3 บาท 2)ค่าแรงงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเป็น 330 บาท และ 3) การจราจรติดขัดทำให้รถบรรทุกทำรอบได้เพียง 1 รอบต่อวันนั้น

ซึ่งความจริงรถบรรทุกส่วนใหญ่หันไปใช้ก๊าซ NGV กันเกือบหมดแล้ว และก่อนหน้ารัฐบาลนี้ราคาน้ำมันดีเซลมีราคามากกว่า 30 บาทต่อลิตรก็ยังอยู่กันได้ แต่ในขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 28 บาทเท่านั้นกลับมาใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคา ด้านค่าแรงนั้นเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีผลต่อต้นทุนเพียงไม่เกิน 1% เท่านั้น ส่วนปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดมาโดยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาและจะยังคงเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต่างรับรู้ความเสี่ยงในปัญหานี้ดีอยู่แล้ว การใช้เหตุเหล่านี้เป็นข้ออ้างจึงไม่สมเหตุสมผล หากแต่เป็นการซ้ำเติมประชาชนให้ข้าวยากหมากแพงในยุครัฐบาล คสช.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ