พาณิชย์-เกษตรฯ เซ็น MOU เชื่อมโยงการผลิตข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2018 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ว่า การผลิตข้าว กข43 ถือเป็นความมุ่งหวังเสริมสร้างการผลิตข้าวพันธุ์ใหม่อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กข43 กลางทาง คือ ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว และปลายทาง คือ โมเดิร์นเทรดต่างๆ

เนื่องจากขณะนี้มีผู้ผลิตข้าวหลายประเทศจึงจำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพดีเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้น โดยรัฐบาลเน้นให้ตลาดนำการผลิต และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาข้าวล้นตลาด และทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะมีตลาดรองรับ ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและหาตลาดรองรับ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเชื่อมโยงข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว เพื่อผลักดันการดำเนินนโยบายการผลิตและจำหน่ายข้าวคุณภาพนอกเหนือจากการจำหน่ายข้าวทั่วไป สร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงความสำเร็จในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานข้าว กข43 อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง (เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กข43 และสหกรณ์การเกษตร) กลางทาง (ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว) และปลายทาง (โมเดิร์นเทรด) ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อข้าวที่แน่นอน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการบริโภคข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวที่ใช้วัตถุดิบของไทยให้กับผู้บริโภคในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

สำหรับข้าวพันธุ์ กข43 เป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่ามีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คาร์โบไฮเดรตของข้าวมีลักษณะที่ทนต่อการย่อยได้ดีกว่าข้าวอะไมโลสต่ำพันธุ์อื่น จึงถือเป็นข้าวทางเลือกของผู้ใส่ใจสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการร่วมกันในการดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรในปีการผลิต 2560/61 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ วางแผนการผลิตภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ นาปีมีผลผลิตรวม 50 ตันข้าวเปลือก หรือ 20 ตันข้าวสาร สำหรับนาปรังมีผลผลิตรวมประมาณ 1,643 ตันข้าวเปลือก หรือ 657 ตันข้าวสาร สำหรับเป้าหมายฤดูนาปี ในปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตรวมประมาณ 50,000 ตันข้าวเปลือก หรือ 20,000 ตันข้าวสาร รวมทั้งกำหนดการรับรองบนบรรจุภัณฑ์ข้าว กข43 โดยใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และหลักประกันแก่ผู้บริโภคว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพได้การรับรองจากกรมการข้าว โดยให้เมล็ดพันธุ์ไปปลูกโดยกลุ่มชาวนาที่ขึ้นทะเบียนนาแปลงใหญ่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การดูแลของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก สีแปรโดยสหกรณ์หรือโรงสีข้าวที่ได้รับมาตรฐาน GMP และข้าวสารได้รับการรับรองมาตรฐาน Q สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) โดยระบบ QR Trace เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code จะทราบถึงข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวได้

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเชื่อมโยงการรับซื้อข้าว กข43 ระหว่างผู้ประกอบการแปรรูปข้าว จำนวน 7 ราย รับซื้อข้าวจากสหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตข้าว กข43 จำนวน 8 ราย ปริมาณผลผลิต 1,121 ตันข้าวเปลือก และเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กข43 ทั้ง 7 ราย กับผู้ประกอบการ โมเดิร์นเทรด จำนวน 4 ราย ได้แก่ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และเซ็นทรัลฟูดส์ เพื่อวางจำหน่ายข้าว กข43 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการโดยจะจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในราคา 60 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าข้าวปทุมธานีแต่ไม่สูงกว่าข้าวหอมมะลิ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

พร้อมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม 2561 ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ได้แก่ 1) สื่อมัลติมีเดียในสถานีรถไฟฟ้า 2) สื่อประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลสมิติเวช และ 3) สปอตโฆษณาเผยแพร่ทางสถานีวิทยุชั้นนำ โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงช่องทางการจำหน่ายข้าว กข43 อย่างชัดเจน

นอกจากนั้นได้มีการผลักดันให้มีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวที่เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว โดยเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ นาอินทรีย์ ผู้ผลิตแปรรูป ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว จำนวน 7 ราย และโมเดิร์นเทรด จำนวน 5 ราย เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ที่ซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรกรในราคานำตลาด โดยมีแผนจะนำออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้

ผลสำเร็จของการเชื่อมโยงในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการข้าวที่เป็นรูปธรรม เห็นผลการเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน ทำให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกร เกิดความเชื่อมั่นในแนวคิดการตลาดนำการผลิต และรูปแบบการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ