"สมคิด" ดัน SME ไทยสู่ยุค 4.0 พร้อมหามาตรการช่วยเหลือทุกด้าน หวังเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 18, 2018 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงกิจกรรมมาตรการเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ภายใต้ชื่อ "SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล" โดยกล่าวว่า รัฐบาลพยามปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากธุรกิจขนาดใหญ่ สู่เศรษฐกิจบนฐานผู้ประกอบการ ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 จะเริ่มเห็นถึงความแตกต่าง ซึ่งตนจะได้เชิญกระทรวงการคลัง อธิบดีสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาหารือถึงแนวทางที่จะขับเคลื่อนเอสเอ็มอีต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลเหลือเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งเหลือเวลาไม่มาก จึงฝากให้ข้าราชการร่วมมือทำงานเต็มที่ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นความหวังของเอสเอ็มอี ต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ และทำงานร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารต่างๆ ในการช่วยขับเคลื่อนสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอีถือเป็นจุดที่ช่วยสร้างงานให้กับประเทศ และมีถึง 99% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถ้าหากเอสเอ็มอีล้มจะกระทบต่อการจ้างงานอย่างมหาศาล และมองว่าเอสเอ็มอีเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมและความคิดใหม่ๆ เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและธุรกิจใหม่ๆ และเชื่อว่า ช่วง 4-5 ปีข้างหน้าจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย จึงจำเป็นต้องช่วยไม่ให้เอสเอ็มอีตกขบวน

ทั้งนี้ การจัดงานในวันนี้ได้มีจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะยังไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด แต่พยายามให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี และต้องการให้ไทยเป็น Hub Start up ในหลายด้านๆ โดยต้องการให้ไทยเป็น Hub Start up ที่สามารถแข่งกับสิงค์โปร์ได้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของเราว่าสามารถทำได้สำเร็จ เพราะไม่มีอะไรที่ด้อยกว่าชาติอื่น และหวังจะเห็นบริษัทเกิดใหม่มีคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการพัฒนาเอสเอ็มอี พร้อมทั้งจะวางรากฐานการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสามารถต่อยอดได้

นายสมคิด ยังกล่าวถึงแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนว่า ได้ฝากให้ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ลงทุนในเรื่อง Big Data และ AI เพื่อเข้ามาช่วยในเรื่องการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และฝากสมาคมธนาคารไทยต้องช่วยสร้างความมั่นใจว่า แม้ค่าเงินจะผันผวนอย่างไรแต่เอสเอ็มอีต้องอยู่รอด

พร้อมกันนี้ นายสมคิด ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนการนำเทคโนโลยีมาต่อยอด และช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ยุคดิจิตัลได้อย่างแท้จริง และต้องให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

"ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่การให้ออกมาตรการความช่วยเหลือให้กับเอสเอ็มอีมากขนาดนี้ วันนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ ธนาคารพาณิชย์ และมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจในการให้ความช่วยเหลือและขอให้เอสเอ็มอีมีความหวัง แม้ว่ามันจะไม่ง่าย...พยายามที่ะจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีมากกว่า 15 ปี เพื่อหวังให้เอสเอ็มอีพลิกโฉมประเทศไทย แต่ยังไม่ถึงเป้าที่วางไว้ แต่ยืนยันว่าไม่เคยทอดทิ้งเอสเอ็มอี และไม่เคยมองว่าเป็นภาระ แต่เป็นความหวังที่ให้เอสเอ็มอีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า" นายสมคิดกล่าว

พร้อมระบุว่า ในโลกสมัยใหม่ประเทศจะเดินหน้าได้ต้องอาศัยคนตัวเล็ก ซึ่งต้องให้โอกาสในการสร้างธุรกิจจนกลายเป็นเครื่องยนต์ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และหากประเทศใดที่กระจุกตัวเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ทีทางที่จะพัฒนาได้แน่นอน

นายสมคิด ยังคงมั่นใจว่าการเติบโตเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี มีศักยภาพและมั่นคง แต่สิ่งที่หนักใจคือโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และในขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนกลไก ความคิด และวิธีการทำงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกระทรวงอุตสาหกรรมต้องคิดใหม่ และมีหน้าที่ในการสร้างผู้ประกอบรายใหม่ให้เกิดขึ้นให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถ มีความเข้มแข็งในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคการเกษตร ท่องเที่ยว และภาคบริการ

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ต้องมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ สร้าง e-Commerce และขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาตร์ต้องเข้ามาช่วยในการส่งเสริมงานด้านนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องพยายามปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้าตามนโยบาย 4.0

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ได้หารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ เปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าหากต้องการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ต้องการสร้างสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง จะต้องเริ่มที่เด็ก เพื่อให้เด็กมีจิตนาการเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ให้เป็นสิ่งมีคุณค่า พร้อมทั้งได้ฝากให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มการสนับสนุนในการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้าถึงความต้องการ รวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจนอกเหนือจากมาตรการทางภาษีด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ