สนข.เสนอแผนบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งทางอากาศ หลังแนวโน้มเติบโตสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2018 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศในประเทศวันนี้ว่า ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยมีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีท่าอากาศยานทั้งหมด 38 แห่ง แบ่งเป็นท่าอากาศยานหลัก จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และท่าอากาศยานรองอีกจำนวน 32 แห่ง ซึ่งพบว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกสบายและมีสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น

จากสถิติข้อมูลการขนส่งทางอากาศภายในประเทศประจำปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรวม 125 ล้านคน และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 1.6 ล้านตัน กล่าวคือในปี 2560 ภาคการขนส่งทางอากาศมีการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงจากอากาศยานมากกว่า 4,200 ktoe (กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

นอกเหนือจากการใช้พลังงานของเครื่องบินแล้ว ยังมีกิจกรรมในสนามบินที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า เช่น การขนส่งผู้โดยสารด้วย Bus Gate การขนส่งกระเป๋าสัมภาระหรือลำเลียงสินค้าเพื่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีการใช้รถยนต์เพื่อทำการขนส่งและลำเลียงสินค้าและผู้โดยสาร ทั้งนี้ ในปี 2559 มีการใช้พลังงานรวม 79,929 ktoe (กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) โดยมีการใช้พลังงานในภาคขนส่ง 30,181 ktoe หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของประเทศ

กระทรวงพลังงานจึงได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2579 หรือเท่ากับการลดการใช้พลังงานลงประมาณ 56,142 ktoe โดยการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง 30,213 ktoe ในปี พ.ศ. 2579 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 58 ของการใช้พลังงานทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2579 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 โดยมีมาตรการที่มีศักยภาพ 10 มาตรการหลักในภาคขนส่ง รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลและศักยภาพการบริหารจัดการและการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศในประเทศและแผนปฏิบัติการส่งเสริมการบริหารจัดการและการอนุรักษ์พลังงานภาคการคมนาคมขนส่งทางอากาศขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลศักยภาพและแนวทางการส่งเสริมการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานจากกิจกรรมภายในท่าอากาศยาน 2) จัดทำค่าเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางอากาศในประเทศไทย และ 3) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศในประเทศกำหนดแนวทางมาตรการและวิธีดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในภาคการขนส่งทางอากาศที่สามารถตรวจวัดได้ และพัฒนาการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

นายชัยวัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า สำหรับการสัมมนาเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศในประเทศ ที่ สนข. จัดขึ้นในวันนี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ และนำเสนอแผนและภาพรวมการดำเนินงานศึกษาโครงการ และแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การใช้พลังงานภาคการขนส่งทางอากาศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดย สนข. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อันเป็นประโยชน์ที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้ ไปปรับใช้ในการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนของไทยในระยะยาว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานไปในทิศทางและมุ่งสู่เป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคม 4.0 มีเป้าหมายให้มีความ "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" โดยมีแนวคิดในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green & Safe Transport 2. การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ Transport Efficiency 3 ระบบคมนาคมขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม Inclusive Transport


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ