คมนาคมไม่เห็นด้วย AOT ย้ายโลว์คอสต์เส้นทางระหว่างประเทศกลับดอนเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 22, 2008 19:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

           รมช.คมนาคม ย้ำสนามบินดอนเมืองไม่รับสายการบินต้นทุนต่ำเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มจากในปัจจุบัน เหตุผู้โดยสารต่อเที่ยวบินไม่สะดวก และให้ดำเนินการขยายเฟส 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้สายการบินที่ใช้ในดอนเมืองย้ายกลับ ส่วน รมว.คมนาคมสั่ง ทอท.สัปดาห์หน้าทยอยจ่ายค่าชดเชยชาวบ้านรอบสุวรรณภูมิที่ได้รับผลกระทบ แต่จะซื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับบอร์ดชุดใหม่ชี้ขาด ด้านทอท. เตรียมวัดแนวเส้นเสียงรอบใหม่ให้สอดคล้องสภาพปัจจุบัน เชื่อจำนวนผู้ได้รับผลกระทบลดลง           
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. เสนอใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะผู้โดยสารจะไม่ได้รับความสะดวกในการต่อเที่ยวบิน
"ยืนยันว่าท่าอากาศยานดอนเมืองจะไม่รองรับสายการบินประจำเพิ่มจากที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และได้หารือกับทอท.ในประเด็นนี้แล้ว พบว่ามีความเข้าใจที่ตรงกัน" นายทรงศักดิ์ กล่าว
ส่วนปัญหาการขาดทุนของท่าอากาศยานดอนเมืองในปัจจุบัน จะต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเพิ่มจำนวนสายการบินเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน แต่อาจใช้ประโยชน์โดยการจัดทำศูนย์ซ่อมเครื่องบินหรือคลังสินค้า ซึ่งแนวทางการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีความชัดเจน หลังจากคณะกรรมการทอท.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งในวันที่ 14 มี.ค.นี้
สำหรับปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น รมช.คมนาคม เชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดี จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 50 ล้านคน เพราะความแออัดเกิดขึ้นในบางช่วงเวลาเท่านั้น โดยในระหว่างนี้ กระทรวงคมนาคมจะพิจารณารายละเอียดโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ควบคู่กัน โดยยืนยันว่าเมื่อการก่อสร้างระยะที่ 2 แล้วเสร็จ สายการบินประจำที่ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ในปัจจุบัน ต้องย้ายกลับมาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ส่วนการแก้ปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ทอท.อยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความชัดเจนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เพราะที่ผ่านมาครม.มีมติให้จ่ายค่าการตลาดให้กับประชาชนในการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะเดียวกันทอท.จะศึกษารายละเอียดและวิธีการออก พรฏ.กำหนดเขตที่ดินควบคู่กันไปด้วย
"การออกพรฏ.เป็นเพียงแนวคิดที่ได้จากการหารือกับทอท. เพื่อดูว่าวิธีการดังกล่าวจะนำมาใช้แก้ปัญหาการซื้อขายที่ดินของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้หรือไม่"นายทรงศักดิ์ กล่าว
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าทอท.จะทยอยจ่ายเงินชดเชย เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่อยู่ในเขต NEF>40 และอาศัยก่อนปี 2544 ซึ่งมีจำนวน 166 หลังคาเรือน ส่วนการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องรอให้คณะกรรมการทอท.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนว่า จะใช้ราคาที่ประเมินไว้ตามกติกา แต่ไม่จำกัดสิทธิของประชาชนที่รับเงินเรียบร้อยแล้ว สามารถเรียกร้องต่อศาลได้อีกครั้ง ถ้าเห็นว่าราคาที่ตกลงกันไปแล้วเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม
ขณะที่ พล.อ.ท.ชนะ อยู่สถาพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า จะว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจวัดแนวเส้นเสียงรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกครั้ง เพื่อให้แนวเส้นเสียงสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน และสร้างความมั่นใจให้
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะใช้หน่วยงานที่เป็นกลางในการตรวจวัด ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 เดือน
"คาดว่าการตรวจวัดแนวเส้นเสียงครั้งใหม่ จะทำให้จำนวนผู้ได้รับผลกระทบลดลง เพราะเป็นการวัดระดับเสียงจากการใช้งานเครื่องบินในปัจจุบันที่ทำการบินอยู่ประมาณ 40 เที่ยวต่อชั่วโมง ต่างจากแนวเส้นเสียงเดิม ที่ใช้พื้นฐานการใช้งานเครื่องบินที่ 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง" พล.อ.ท.ชนะ กล่าว
ทั้งนี้ ทอท.จะเร่งจ่ายเงินชดเชยให้ประชาชนในเขต NEF>40 และเข้าอยู่ก่อนปี 2544 จำนวน 503 หลังคาเรือน ส่วนประชาชนในเขต NEF 30-40 จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเป็นจริง ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น ได้แจ้งให้นายสันติรับทราบแล้วว่า
หากวงเงินค่าชดเชยสูง ทอท.ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ด้านนายวันชาติ มานะธรรมสมบัติ แกนนำประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเสียงในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อว่าหลังจากนี้ประชาชนจะยุติความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อเปิดน่านฟ้าบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ส่วนการตรวจวัดแนวเสียงเส้นใหม่นั้น ต้องขอให้ใช้ฐานจำนวนเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้บริการสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ