ธปท.ระดมสมอง 40 นายแบงก์-นักวิชาการ 10 ก.ย.นี้ถกมาสเตอร์แพลน 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2007 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.จะจัดการประชุมหารือระหว่าง ธปท. ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์  ตัวแทนกระทรวงการคลัง และนักวิชาการ ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อหารือแนวทางการยกร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2  
ในเบื้องต้นคณะกรรมการจัดทำแผนฯได้สรุปกรอบของแผนใน 3 ข้อหัวหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพสถาบันการเงิน
โดยเฉพาะการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นที่เกิดจากการบังคับใช้นโยบายของทางการ 2. การส่งเสริมการแข่งขันผ่านผู้เล่นหน้าใหม่จากการเปิดเสรีทางการเงิน และ 3. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อระบบสถาบันการเงินไทย
“แบงก์ชาติต้องการประมวลแนวคิดจากหลายฝ่าย ก่อนนำมาศึกษาต่อ ซึ่งมีอย่างน้อย 8-10 ประเด็นที่ต้องนำมาศึกษา" นายบัณฑิต ระบุ
ขณะเดียวกันในแผนดังกล่าวยังมีการกำหนดบทบาทและขอบเขตธุรกิจของสถาบันการเงินของรัฐอีกด้วย
ด้านนายไพโรจน์ เฮงสกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธปท. ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กล่าวว่า จากงานวิจัยของเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูฯ พบว่าการยกเลิกการประกันเงินฝากเต็มจำนวน โดยเปลี่ยนเป็นการคุ้มครองเงินฝากภายใต้สถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินไทยโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก หรือธนาคารจัดตั้งใหม่ เนื่องจากจะเกิดทั้งโอกาสและความสี่ยงจากเงินไหลเข้าและไหลออกไปลงทุนด้านอื่น
“เราเชื่อว่าไม่สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินไทยและประชาชนโดยมีช่วงเวลาในการปรับตัวถึง 4 ปีก่อนที่จะทยอยลดการคุ้นครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท เพราะเรามีจุดประสงค์คุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อยจริง ๆ ซึ่งล่าสุดมีกว่า 51 ล้านราย หรือมูลค่า 6.0ล้านล้านบาท ซึ่งหากคุ้มครองวันนี้ก็จะคุ้มครองถึง 51 ล้านราย" นายไพโรจน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ