จีนอ้าแขนรับสินค้าเกษตรไทย เล็งมาลงทุนแปรรูปยางพาราในภาคเหนือ-อีสาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2009 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลการเดินทางไปเยือนจีนเมื่อวันที่ 21-24 ก.พ.52 ว่า ได้หารือกับ รมว.พาณิชย์ของจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการขยายการค้าระหว่างกันโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เนื่องจากจีนระบุว่าจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ดังนั้นจีนจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าควบคู่ไปกับเพิ่มปริมาณการส่งออกเช่นกัน

"สินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ ข้าว, ผลไม้ต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะขยายตลาดสินค้าเกษตรไปยังจีน" นายวีระชัย กล่าว โดยขอให้จีนช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่งสินค้า และการประเมินภาษีทางศุลกากรด้วย

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังขอให้จีนสนับสนุนเรื่องตลาดยางพารา, ลำไย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ความมั่นใจต่อความพร้อมในการที่จะป้อนยางพาราเข้าสู่ตลาดจีนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะมีแนวโน้มที่ตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนแปรรูปยางในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่รัฐบาลจีนก็ยังคงยึดมั่นในหลักการค้าเสรี โดยจีนเห็นว่าการปกป้องตลาดภายในจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการแก้ปัญหาของทุกประเทศในโลก และจีนพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อแก้ปัญหาในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นประธานอาเซียน

นายวีระชัย กล่าวว่า จีนยังเห็นด้วยว่าแต่ละประเทศมีปัจจัยและทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ดังนั้นไทยและจีนควรจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นว่ากรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) มีความสำคัญโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก GMS เช่น เส้นทางรถไฟสายคุนหมิง, การสร้างและพัฒนาเครือข่ายถนนระหว่างประเทศในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East West Economic Corridor: EWEC) และเครือข่ายถนนระหว่างประเทศในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้(North South Economic Corridor: NSEC) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้สามารถพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ