รัฐบาลเดินหน้าโครงการประกันราคาพืชผลเกษตรนำร่องมันสำปะหลัง-ข้าวโพด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 11, 2009 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้อนุมัติหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินโครงการประกันราคามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยใช้งบประมาณในโครงการร่วมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการรับประกันราคา มันสำปะหลัง ปี 52/53 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ ก.ค.52-ก.ค.53 มีวงเงินงบประมาณที่จ่ายเป็นส่วนต่างการรับประกันราคาจำนวน 10,692 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง 10 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์วางเป้าหมายว่าจะมีปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาด 29.7 ล้านตัน

เกษตรกรที่จะขอใช้สิทธิตามโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนและมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลังที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดระยะเวลาให้เกษตรกรขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.52 และทำสัญญาประกันราคา ส.ค.-พ.ย.52 เกษตกร สามารถใช้สิทธิประกันราคาได้หลังวันทำสัญญาแล้ว 45 วันแต่ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันทำสัญญา แต่ไม่เกิน 31 พ.ค. 53 กำหนดผลผลิตต่อครัวเรือน ไม่เกิน 100 ตัน

ทั้งนี้ กำหนดราคารับประกันหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ที่ กก.ละ 1.70 บาท ส่วนการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์

"หากราคาประกันที่ 1.70 บาท/กก.และราคาอ้างอิง ธ.ก.ส.ประกาศไว้ที่ 1.50 บาท/กก. ธ.ก.ส.จะจ่ายส่วนต่าง 20 สตางค์/กก. คูณ จำนวนตันที่ได้ประกันไว้ เกษตรกร จะได้เงินส่วนนี้ไป ซึ่งเกษตรกร อาจเดินกลับบ้าน และยังไม่ขุดมันมาขายในวันนั้นก็ได้ แต่เกษตรกรจะขายวันไหนก็ได้ในราคาตลาด" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ จะมีการกำหนดราคาตลาดอ้างอิง ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่ ก.ย. 52 เป็นต้นไปไป

ส่วนการรับประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะใช้หลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกัน โดยกำหนดระยะเวลาให้เกษตรกรขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.52 และ ทำสัญญา ส.ค.-พ.ย.52 เกษตรกรใช้สิทธิภายใน 15 วันแต่ไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันทำสัญญา ซึ่งจะไม่เกิน 28 ก.พ.53 กำหนดราคารับประกันไว้ที่ 7.10 บาท/กก.กำหนดผลผลิตต่อครัวเรือนไม่เกิน 20 ตัน โดยจัดงบประมาณจ่ายเป็นส่วนต่างราคารับประกัน 7,055 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายให้กรมการค้าภายในเพื่อใช้ดำเนินโครงการจำนวน 6 ล้านบาท

รองนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจว่า การดำเนินโครงการรับประกันราคา พืชผลทั้งสองชนิด รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณ เป็นค่าใช้จ่ายไม่มากไปกว่าโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร และเชื่อว่าระบบประกันราคาพืชผล จะช่วยป้องกันการทุจริตเกิดขึ้นได้

ส่วนการกำหนดราคาอ้างอิง ได้สะท้อนความเป็นจริง แต่หากราคาขายไม่สะท้อนความเป็นจริง รัฐบาลจะมีมาตรการรองรับไว้ เป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพ อาจเป็นการพักตั๋วซื้อ หรือการรับจำนำ แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้เสียประโยชน์หรือกระทบราคาตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ