ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าช่วยหนุนคงดอกเบี้ยต่ำนานขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2009 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาและอาจมีความต่อเนื่องในระยะถัดไปนั้น น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อลงบางส่วน ซึ่งอาจช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำได้นานมากขึ้น แต่ทั้งนี้คงจะต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของ ธปท.ซึ่งจะเป็นผู้ที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างโจทย์ในการดูแลเสถียรภาพของระดับราคา ควบคู่ไปกับเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวและผลกระทบของเงินบาทจะยังคงถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากธปท.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทยจะยังคงมีความสำคัญ และเป็นโจทย์ที่ทางการไทยต้องตั้งรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากประเมินในภาพรวมแล้วจะพบว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ทำให้ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยน่าจะมีจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์ อย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ต้น ก.ย.52 ทำให้นักวิเคราะห์ และผู้เล่นอื่นๆ ประเมินมุมมองการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทค่อนข้างลำบาก ขณะที่ปัจจัยภายนอกอยู่นอกเหนือการควบคุมหลายๆ ด้าน น่าจะมีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่คาดว่า ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชีย ตลอดจนการลดทอนบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในระบบการเงินโลก จะเป็นประเด็นสำคัญของตลาดการเงินในระยะถัดไป ทำให้คาดว่าเงินบาทจะยังคงโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค มีความเป็นไปได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.00 และ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากหลักฐานการฟื้นตัวและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น และกระตุ้นให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้เงินดอลลาร์ฯ จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ความเสี่ยงมีอยู่เสมอในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยโอกาสของการปรับฐานอย่างรุนแรงของของตลาด อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้น หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไปสะท้อนภาพแนวโน้มการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากเกินคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลายเป็นจุดหักเหของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในกรณีนี้ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ เวลานี้ ยังคงต้องแบกรับภาระทั้งความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงของภาครัฐ ตลอดจนปัญหาในภาคการเงินที่ยังคงมีการปิดตัวของธนาคารขนาดเล็กให้เห็นอยู่



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ