DTAC ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณี กสท.-TRUE ทำสัญญา CDMA-HSPA

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 25, 2011 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันนี้ เพื่อให้มีการพิจารณาถึงความถูกต้องตามกฏหมายของสัญญาระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในการร่วมลงทุนเพื่อให้บริการสื่อสารในระบบซีดีเอ็มเอและเอชเอสพีเอ

DTAC ยังยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ กสท โทรคมนาคม ระงับการดำเนินการต่างๆ ภายใต้สัญญาดังกล่าวจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งหมดจะได้ทำการตรวจสอบและรับรองการดำเนินการทางธุรกิจดังกล่าวตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

ตามคำฟ้องระบุว่า บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มีการลงนามในสัญญาหลายฉบับกับบริษัทในเครือของกลุ่ม TRUE ซึ่งรวมถึงบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมลงทุนในการให้บริการสื่อสารระบบซีดีเอ็มเอและเอชเอสพีเอ

ที่ผ่านมา การดำเนินการทางธุรกิจดังกล่าวระหว่าง กสท และกลุ่มบริษัททรู ได้รับการตรวจสอบเนื่องจากมีการหยิบยกถึงความผิดปกติและข้อกังวลต่าง ๆ โดยหน่วยงานกำกับดูแล คือรักษาการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตลอดจนกลุ่มนักวิชาการและหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบหลายฝ่าย รวมถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แม้กระนั้น รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการทางธุรกิจดังกล่าวมีความสอดคล้องถูกต้องตามกฎหมาย และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า การดำเนินการทางธุรกิจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการสื่อสารรายอื่น ๆ รวมถึง DTAC ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในภาพรวมและเกิดความเสียหายต่อดีแทค

"เรารู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้มีท่าทีอย่างจริงจังเท่าที่ควรเพื่อเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 46 พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า"

“เราจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในวันนี้เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภคชาวไทย และประเทศไทยเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของดีแทคเพียงฝ่ายเดียว" นายอับดุลลาห์กล่าว

ประธานเจ้าหน้ที่บริหาร DTAC กล่าวว่า บริษัทต้องการผลักดันให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการวางโครงสร้างด้านกฎระเบียบที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ในส่วนของ DTACเองก็พร้อมที่จะเจรจาอย่างเปิดเผยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น รักษาการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง และ กสท โทรคมนาคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ