DSI เผยผลสอบเบื้องต้นประมูล 3G คลื่น 2.1 GHz ไม่พบการฮั้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 28, 2012 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าว่า จากที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการจัดการประมูลใบอนุญาต 3จี ย่านความถี่ 2.1 GHz ของคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคาแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น และ สำนักงานกสทช.ได้ยื่นเรื่องมาให้ DSI เป็นผู้ตรวจสอบในประเด็นการออกหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การจัดการประมูลว่าขั้นตอนต่างๆ มีการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 (พ.ร.บ..ฮั้ว) หรือไม่ ซึ่งจากการสอบสวนในเบื้องต้น พบว่าการประมูลดังกล่าวไม่มีการกระทำความผิดแต่อย่างใด

อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา DSI ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของ กสทช. โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้ คลื่น ความถี่ การจัดประมูลคลื่นความถี่ รวม 9 คน โดยมีพนักงานอัยการจาก สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาร่วมด้วย ซึ่งเป็นการเข้าชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการประมูล วิธีการเสนอราคา ผลของการประมูลราคา

สำหรับประเด็นการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท ในขณะที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ กสทช.กำหนดราคาที่ 6,440 ล้านบาท และประเด็นมีผู้เสนอราคาเพียง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC), บริษัทในเครือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และบริษัทในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) โดย ADVANC ที่เสนอราคาสูงสุดที่ 14,625 ล้านบาท แต่ขณะที่ DTAC และ TRUE เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ถือว่าเท่ากับราคาเริ่มต้น ซึ่งจากการชี้แจงดังกล่าวปรากฏว่ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น DSI จำเป็นต้องเอกสารเพิ่มเติม และให้ส่งกลับมาภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ หลังจากที่ DSI ได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้วเชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสรุปผลสอบสวนทั้งหมดเพื่อแถลงข่าวและแจ้ง กลับไปยังกสทช.ได้

ด้าน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ2 ในฐานะประธานสอบสวนการประมูล 3จี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเอกสารคำถาม 7 ที่ขอไปยังสำนักงานกสทช.ประกอบ ด้วย 1.การประมูลไลเซ่น3จี ใช้หลักเกณฑ์อะไรที่สามารถชี้ชัดได้ว่าการประมูลไม่ใช่การเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) 2.การกำหนดสล็อตความถี่ 45 MHz ที่กำหนดไว้ 9 ช่องความถี่ และให้ผู้ที่เข้าประมูลมีสิทธิประมูลได้สูงสุดรายละ 3 ช่อง มีหลักเกณฑ์อะไร 3.การคิดราคาเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาทต่อช่องความถี่ ตามที่กสทช.กำหนดไว้ 76% ของมูลค่า คลื่นเต็ม 6,440 ล้านบาทมีความแตกต่างกันอย่างไร

4.การคิดค่าประกันซองที่ 1,350 ล้านบาท หรือเท่ากับ 10% ของจำนวนสล็อตสูงสุดที่เข้าประมูลได้ใช้หลักเกณฑ์อะไร เพราะตามระเบียบสำนักนายกฯกำหนดเงินประกันซองของ การจัด ซื้อจัดจ้างไว้เพียง 5% การกำหนดมูลค่าที่สูงถือเป็นการกีดกั้นรายย่อยหรือไม่ 5.ขอให้กสทช.ส่งรายละเอียดการประมูลทั้งหมด ตั้งแต่การร่างหลักเกณฑ์ วันประมูล ภายหลังการ ประมูล และกสทช.ระบุว่ามี 20 บริษัทในประเทศไทยที่สามารถเข้าประมูลได้ ขอให้กสทช.แจงรายชื่อมาละเอียด 6.การเคาะราคาวิธีการประมูล มีการเปิดประมูล 9 ช่องความถี่ พร้อมกันของผู้เข้า ประมูลทั้ง 3 ราย ถือเป็นการแข่งขันราคาแล้วหรือไม่ และ7.ทำไมในท้ายที่สุดถึงมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย และเมื่อมีผู้เข้าประมูลน้อยราย ทำให้กสทช.ถึงไม่ใช้ภาคผนวก ข ในการสงวน สิทธิ์ยกเลิกการประมูลไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ