CGS มองโอกาส H1/58 ตลาดหุ้นปรับฐาน ก่อนพุ่งแตะ 1,778 จุด ทุบสถิติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 16, 2014 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) เปิดเผยถึงมุมมองและกลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทยในปี 58 ว่า CGS เริ่มมีความกังวลกับมูลค่าตลาดรวม(Market capital)ในปี 57 ที่สูงเกินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อาจส่งสัญญาณฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการลดดอกเบี้ยสวนทางสหรัฐ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงกระทบต่อมูลค่าหุ้นในกลุ่มพลังงาน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกจะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญแรงขายจนปรับฐานลงมาก่อน และค่อยฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

ขณะที่แนวโน้มทางเทคนิคเตือนการปรับฐานเช่นเดียวกัน แนวโน้ม SET ทางเทคนิคในระยะยาวตลอดปี 58 ยังคงมีทิศทางขาขึ้นและมีโอกาสสร้างระดับสูงสุดใหม่ที่เกิน 1,700 จุด โดยคาดว่าอาจปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ครึ่งหลังของปี 58 แนวโน้ม SET อาจพักตัวตามสัญญาณ MACD ที่กำลังเกิด Divergence สวนทางกราฟที่ปรับขึ้น ประกอบกับกราฟแท่งเทียนมีโอกาสเกิด M-curve ซึ่งทำให้กังวลว่า SET อาจปรับฐานลงมาก่อน โดยหากปรับฐานเบาก็จะลงมาที่ 1,420จุด หากแรงจะลงไปถึง 1,300 จุด จากนั้นจึงค่อยมาประเมินแนวไต่ระดับขึ้นใหม่ว่าจะไปได้ระดับใด แต่เราเห็นปลายทางของ SET เกิน 1,700 จุดในอนาคต

ทั้งนี้ CGS คาดการณ์เป้าหมาย SET ในปี 58 โดยมีสมมุติฐานการเติบโตของกำไร บจ. ที่ 12% ทำให้ EPS อยู่ที่ 104.59 บาท ขณะที่ปี 57 กำไร บจ. คาดว่าขยายตัวราว 5% และที่ PE 17 เท่าจะพบว่า SET ที่ 1,587 จุดใกล้เคียงกับช่วงเดือนธันวาคม และที่ระดับ 14 เท่า ใกล้เคียงกับช่วงเดือนมกราคม 57 ดังนั้นหากเราใช้ช่วงนี้เป็นกรอบในปี 58 เราจะได้แนวรับ SET ที่ 1,464 จุด และแนวสูงสุดที่ 1,778 จุด

"ปี 57 เรากังวลมูลค่าตลาดที่สูงเกิน GDP อาจส่งสัญญาณฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ปัจจัยเรื่องการลดดอกเบี้ยสวนทางสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่ลดลง กระทบต่อมูลค่าหุ้นในกลุ่มพลังงาน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศในช่วงครึ่งปีแรก จะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญแรงขายจนปรับฐานลงมาก่อน และค่อยฟื้นตัวในครึ่งหลัง ขณะที่แนวโน้มทางเทคนิคเตือนการปรับฐานเช่นกัน"นายรณกฤตกล่าว

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้ SET สามารถยืนเหนือ 1,500 จุดมาอย่างต่อเนื่องและขนาดของมูลค่าตลาดรวม (Market capital) ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าสูงถึง 14.6 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวที่แซงหน้าตลาดหุ้นของประเทศสิงคโปร์ไปแล้ว แต่เรากลับมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2557 ที่น้อยกว่า 1% และไม่เกิน 4.5% ในปี 58 โดยปัจจุบันมีมูลค่าของ GDP ที่ 12.8 ล้านล้านบาทต่ำกว่ามูลค่าตลาดหุ้นถึง 13% ถือว่าตลาดหุ้นมีมูลค่าสูงกว่า GDP มากที่สุดที่เคยมีมา ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศหดตัวอย่างแรงพร้อมๆ กับเงินเฟ้อที่เข้าขั้นฝืด อุตสาหกรรมต่างๆ ชะลอตัวอย่างชัดเจน แต่กลับไปโตในภาคตลาดหุ้น "คนนำเงินมาใส่ตลาดหุ้นมากกว่านำเงินไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่แท้จริง ทำให้เรามองว่าเกิดความไม่สมดุลของการลงทุน และหากเปรียบเทียบกับประเทศที่สำคัญพบว่ามีสิงคโปร์และสหรัฐ ที่มูลค่าตลาดหุ้นสูงกว่า GDP ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ขณะที่ประเทศไทยยังเป็นกึ่งเกษตรกรรม และนี่คือคำถามว่าตลาดหุ้นไทยเกิดฟองสบู่ หรือมีการโตแบบไม่ เราเห็นว่านักลงทุนควรระมัดระวังตลาดหุ้นไทยที่โป่งพองเกินไป"นายรณกฤต กล่าว

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยยังสวนทิศทางดอกเบี้ย โดย CGS ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 1/58 ดอกเบี้ยในประเทศอาจลดลงต่ำกว่า 2.5% เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 4.5% และเพื่อหลีกลำดับบ๊วยของการเติบโตในภูมิภาค แต่จังหวะเวลาของเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี เนื่องจากสหรัฐกำลังจะมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สิ่งที่จะเกิดตามมาคืออาจเกิดเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยน้อยลง และหากในกรณี worse case อาจเกิด fund outflow ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรง

ขณะเดียวกันการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ตัดสินใจคงเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้โครงสร้างตลาดน้ำมันโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ หรือ New Oil Order ที่ OPEC ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ถือครอง Marginal Barrel ดังเช่นใน 20 ปีก่อนที่ OPEC ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดถึง 50% ขณะที่ปัจจุบันผลิตที่สัดส่วน 30% การตัดสินใจของ OPECทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ในเชิงเศรษฐกิจส่งผลดีที่ทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง ภาวะเงินเฟ้อควบคุมได้งานขึ้น ราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้นเร็ว แต่อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงานน้ำมัน เนื่องจากมีผลขาดทุนจากการสำรองน้ำมัน และการประเมินมูลค่าหุ้นที่ต่ำลง ดังนั้นอาจทำให้กองทุน หรือนักลงทุนต่างชาติลดน้ำหนักหุ้นพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากในตลาดหุ้นไทย และจะกดดัน SET ให้ตกต่ำลงได้ง่าย

ปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามในปี 58 และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทยประกอบด้วย ตลาดเก็ง ECB ออก QE ช่วงต้นปี 58 ด้วยภาพรวมของเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มชะงักงันและเผชิญกับภาวะเงินฝืดสนับสนุนให้ ธนาคารกลางยุโรป จำเป็นต้องงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ยังคงต้องลุ้นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของ รมว. คลัง ที่คาดว่าจะเน้นทั้งสาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ภาษี และการส่งออก

ทั้งนี้การลงทุนด้านสาธารณูปโภค ถือเป็นกุญแจหลักที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญมาก หากสามารถจัดการได้เร็ว จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง หากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แนวทางที่ชัดเจนได้จะส่งผลดีต่อการลงทุน เนื่องจากตาม Road Map เดิมนั้นรัฐบาลอาจจะจัดการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2558 แต่จนถึงขณะนี้ยังขาดความชัดเจน และประเด็น ความคัดแย้งทางความคิดของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล หากบานปลายจะทำให้ปัญหากลับมาอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ