NMG เตรียมฟ้องศาลปกครองกรณี 3 บอร์ดกสท.ลงมติให้ SLC ซื้อหุ้นได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 23, 2015 19:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป(NMG) เตรียมฟ้องศาลปกครองกรณีที่กรรมการ 3 เสียงในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.)ในวันนี้ลงมติว่า บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ 1998(SLC) ซื้อหุ้น NMG ได้มากกว่า 10% และไม่ต้องยึดหลักเกณฑ์ประมูลใช้ต่อเนื่อง ซึ่งทาง NMG เห็นว่ากรรมการทั้ง 3 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฏหมายและหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อทีวี กลับไปสู่การครอบงำกิจการ และผูกขาด เช่นเดิม ขัดต่อเจตนารมณ์การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

แถลงการณ์เครือ NMG ระบุว่า ที่ประชุม กสท.มีการพิจารณากรณี SLC เข้าซื้อหุ้น NMG จำนวน 12.27% และยังมีผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับ SLC เข้าถือหุ้นใน NMG รวมกันอีกประมาณ 25% โดยกรรมการแต่ละท่านมีความเห็นดังนี้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.และพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่ามีความเห็นว่าไม่ต้องบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลต่อเนื่องภายหลังการประมูล

ขณะที่นายธวัชชัย จิตรภาษนันท์ และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ มีความเห็นว่าจำเป็นต้องบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลต่อเนื่องภายหลังการประมูลและมีความเห็นว่า SLC ถือหุ้นเกินกว่า 10% ใน NMG เป็นการขัดต่อประกาศหลักเกณฑ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 10% ถือครองใบอนุญาตกิจการทีวีดิจิทัลในประเภทเดียวกัน เพราะ NMG ถือหุ้นมากกว่า 70% ใน บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น(NBC)ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด(NNV)ผู้ถือใบอนุญาตช่องข่าวทีวีดิจิทัล Nation TV เพราะ SLC ถือหุ้น 100%ในบริษัท สปริงนิวส์ จำกัด(มหาชน)ที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องข่าวสปริงนิวส์ โดยให้ออกคำสั่งทางปกครองให้ SLC ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภายใน 90 วัน

ส่วนพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ มีความเห็นว่า SLC สามารถถือหุ้นเกินกว่า 10% ใน NMG ได้เพราะ NMG ที่ถือหุ้น 70% ใน NBC ที่ถือหุ้น 100% ใน NNV ไม่ใช่การถือหุ้นโดยตรงในบริษัท NNV ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ดังนั้น NMG จึงตัดสินใจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆ นี้ เฉพาะกรรมการกสท. 3 คนคือ พ.อ.นที ในฐานะประธานกสท.,พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ และพลโทพีระพงษ์ ที่มีความเห็นดังกล่าวในการประชุม กสท.เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 31 และมาตรา 32 และหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกการใช้คลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัลในส่วนของคุณสมบัติ"ผู้ถือหุ้นใหญ่"และ"ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน"ของผู้เข้าประมูลและภายหลังการประมูล ทั้งทางตรงและทางอ้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ