ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต DTAC เป็นมีเสถียรภาพ คงเครดิตที่ ‘BBB’

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 27, 2015 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) เป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ DTAC ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ DTAC ดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า กำไรและอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำนินงาน ของ DTAC น่าจะปรับตัวดีขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ผลประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ปรับตัวลดลง น่าจะถูกลดทอนด้วย ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด (Marketing expense) และต้นทุนในการให้บริการ (Cost of service) ที่อยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ DTAC จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% และ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) จะอยู่ในระดับสูงกว่า 1.5 เท่าในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิต

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต กำไรขยายตัวในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกำไรในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 และปี 2559 ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง น่าจะลดทอนผลประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ที่ปรับตัวลดลงจากการย้ายการให้บริการไปยังระบบใบอนุญาต ดังนั้นฟิทช์คาดว่า EBITDAR margin ของ DTAC น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 34%-35% ในปี 2558 จาก 36% ในปี 2557 โดยเมื่อเทียบกับประมาณการก่อนหน้านี้ที่ฟิทช์คาดว่า EBITDAR margin จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 40% ในปี 2558

อัตราส่วนหนี้สินที่ยังคงสามารถรองรับการลงทุนที่สูง: เงินลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องสำหรับการขยายเครือข่าย 3G และการลงทุนในคลื่นความถี่โทรคมนาคม จะทำกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ DTAC ติดลบ และส่งผลให้หนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2558 และ 2559 อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ DTAC ที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการลงทุนที่สูง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ของปี 2558 DTAC มีอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage อยู่ที่ 1.5 เท่า

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง: DTAC มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สองของประเทศ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการประมาณ 29% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 DTAC ได้ลงทุนขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของบริการที่ไม่ใช่เสียง และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องทางด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่าง DTAC กับ Telenor ซึ่งมีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์ กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - รายได้จากการให้บริการลดลง 2%-3% ในปี 2558 และเติบโตในระดับ 2%-3% ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป - EBITDAR margin ในปี 2558 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 35% จาก 36% ในปี 2557 และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป - เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2558 และ 2559 - บริษัทมีการลงทุนคลื่นความถี่ใหม่ 900MHz และ 1.8GHz ในปี 2558 - จ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต - การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นไตรมาสสามของปี 2558: 1.5x) - การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท - ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง

ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต - การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน EBITDAR Margin ไปอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง (ช่วงเก้าเดือนของปี 2558: 34.3%) ในขณะที่อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับดี: สภาพคล่องของ DTAC น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีถึงแม้ว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบในปี 2558 และ 2559 สภาพคล่องของ DTAC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูงที่ 2.15 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสามของปี 2558 กระแสเงินสดจากการดำนเนินงานที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2558 DTAC มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในช่วงหนึ่งปีข้างหน้าที่ 1.12 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ