(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.แจงกรณี 13 บริษัทยกเลิกกองทุน PVD เป็นการโอนย้ายกองทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนวัยเกษียณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 1, 2017 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า มีประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของบริษัท 13 แห่ง นั้น

ก.ล.ต. ขอแจ้งว่า ทั้ง 13 บริษัทยังคงมี PVD อยู่ การประกาศเลิก PVD ดังกล่าว เป็นการเลิกเพื่อโอนย้ายจากกองทุนนายจ้างเดียวที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว (single fund) ไปยังกองทุนใหม่ที่ร่วมกันหลายนายจ้างที่มีหลายนโยบายการลงทุน (master pooled fund) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นความประสงค์ของบริษัทนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างของตน (สมาชิก PVD) มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อชีวิตวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การออกประกาศเลิกกองทุนเป็นขั้นตอนปกติของ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ โดย ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะรวบรวมเรื่องการขอเลิกกองที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และออกประกาศในคราวเดียวกัน สำหรับการเลิกกองแบบ single fund เพื่อย้ายไปสู่ master pooled fund มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต. เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนการตื่นตัวของนายจ้างและสมาชิก PVD ในการมีทางเลือกการออมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้างในวัยเกษียณ

ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ กองทุนบำนาญภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาว เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น โดยเงินออมจะมาจากส่วนของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และเงินออมจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี

ข้อมูลสถิติ ปี 2559 เทียบกับ ปี 2558 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ PVD มีมูลค่า 973,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จำนวนนายจ้าง 16,405 ราย เพิ่มขึ้น 6% จำนวนลูกจ้าง 2,905,800 คน เพิ่มขึ้น 4.5% จำนวนกองทุนรวม 401 กอง ลดลง 13 กอง เนื่องจากโอนย้ายไป master pooled fund

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2559 ที่มีการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ 13 บริษัท

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกเลิกเพื่อไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกต่อไป แต่เป็นการยกเลิกกองทุนฯ เพื่อนำมารวมบริหารเป็นกองเดียวกัน จ้างผู้บริหารกองทุนร่วมกัน เนื่องจากมีนโยบายบริหารกองทุนเหมือนกัน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท ทำให้การบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมา ในปี 2558 มีการประกาศยุบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 7 กอง และในปี 2557 มีการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 13 กอง ซึ่งเป็นการยกเลิกกองทุนเก่าและมารวมตั้งกองทุนใหม่ร่วมกันให้มีขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการบริหาร โดยปี 2559 มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 2559 อยู่ที่ 9.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% แสดงให้เห็นว่ามูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีการลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ