กสทช. เปิดรับฟังความเห็นผู้ประกอบการ-ปชช. ก่อนเปิดประมูลคลื่น 900/1800 MHz ในเดือนพ.ค.61

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 18, 2017 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับ ร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-895 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)/935-940 MHz และร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz ว่า กสทช.ต้องการจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านเสร็จสิ้นก่อนคลื่นจะครบกำหนดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.61 โดยให้มีเวลาเพียงพอให้ผู้บริโภคที่มีลูกค้าที่ใช้บริการคลื่นในส่วนนี้ประมาณ 8 แสนรายได้โอนย้ายไปยังผู้บริการใหม่และเพื่อไม่ให้ต้องกำหนดมาตรการเยียวยา

โดยมีสาระสำคัญเรื่องกำหนดให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz ขนาด 5 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต โดยกำหนดราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี ส่วนคลื่น 1800 MHz จะนำมาประมูล 45 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี

สำหรับหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz การเคาะราคาจะต้องมีจำนวนผู้เข้าประมูลมากว่าจำนวนใบอนุญาต ผู้ชนะคือผู้ให้ราคาสูงสุดเมื่อสิ้นสุดการเคาะราคา คลื่น 1800 MHz มี 3 ชุดคลื่นความถี่ หากมีผู้เข้าประมูล 3 รายจะมีการเคาะราคา 2 ใบอนุญาต หากมีผู้เข้าประมูล 2 ราย จะมีการเคาะราคา1 ใบอนุญาต และหากมีผู้เข้าประมูล 1 ราย จะขยายเวลาการประมูลออกไป 30 วันจนกว่าจะมีผู้เข้าประมูลเพิ่มขึ้น

สำหรับการรับฟังความเห็นวันนี้ ผู้ประกอบการและตัวแทนภาคประชาชนแสดงความเห็นหลายประเด็น อาทิ การกำหนดราคาคลื่นความถี่โดยใช้ราคาที่ชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาเป็นราคาเริ่มต้นเป็นราคาสูงเกินไปจะกระทบกับต้นทุนการประกอบของผู้ชนะประมูล, การจัดชุดคลื่นความถี่ที่กำหนดในร่าง ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดชนะประมูลในคลื่นความถี่ชุดใดไปอาจทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากชุดคลื่นความถี่ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากชุดคลื่นความถี่ไม่ได้อยู่ใกล้เคียงกัน จึงขอให้มีการจัดเรียงชุดคลื่นความถี่ใหม่หลังการประมูล, การกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวชุดคลื่นความถี่อาจจะทำให้การประมูลคลื่นได้ไม่หมดตามที่ กสทช.กำหนดไว้

นายฐากร กล่าวว่า กรณีที่มีความเห็นว่าการกำหนดราคาประมูลสูงเกินไป การกำหนดราคาเป็นมติของกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่กำหนดให้ใช้ราคาที่ชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาเป็นราคาเริ่มต้น หากกลับไปใช้ราคาเริ่มต้นราคาเดิมจะกระทบคนที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว และอาจเกิดการฟ้องร้อง ดังนั้นการกลับไปที่ราคาเริ่มต้นคงทำได้ยาก

ส่วนที่มีความเห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz โดยกำหนดให้จำนวนผู้ประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต อาจเป็นอุปสรรคทำให้คลื่นความถี่ถูกนำมาประมูลไม่ครบนั้น นายฐากร ชี้แจงว่า การแบ่งชุดคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมโดย กสทช.ได้นำระเบียบการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ฯ มาใช้ ซึ่งที่สุดแล้วแม้จะมีผู้เข้าประมูลในชุดคลื่นความถี่เพียงรายเดียวก็สามารถเคาะราคาได้

"เพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บอร์ดชุดปัจจุบันซึ่งเป็นบอร์ดรักษาการณ์ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นอำนาจของบอร์ดในการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลฯ และจัดประมูล โดยล่าสุดได้รับการประสานเตรียมที่จะนัดหมายให้ กสทช.เข้าชี้แจงกับกฤษฎีกาแล้ว การขอความเห็นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนหากการประมูลที่กำหนดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.61 โดยขณะนั้นอาจมีบอร์ด กสทช.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว ก็ให้ขึ้นอยู่กับความเห็นของบอร์ดใหม่จะพิจารณา" นายฐากร กล่าว

นอกจากจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านแล้ว ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ในการประมูลครั้งก่อนได้ทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกไปเนื่องจากราคาที่ชนะประมูลเป็นราคาที่สูงมาก หากขยายเวลาชำระเงินออกไปจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการ โดย คสช. ได้ส่งเรื่องถึง กสทช.แล้ว โดย กสทช.อยู่ระหว่างการร่างประกาศ กสทช.เพื่อเสนอ คสช.พิจารณาและใช้อำนาจในการออกประกาศช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ