DTAC เซ็นเป็นพันธมิตร TOT ให้บริการคลื่น 2300 MHz ระยะเวลา 23 เม.ย.61-3 ส.ค.68, คาดลงทุน 3.38 หมื่นลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2018 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า วันนี้ บมจ.ทีโอที และ บริษัท เทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มดีแทค ไตรเน็ต พร้อมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz บนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่มีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการใช้งานดาต้าที่เติบโตรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนของทีโอทีด้วย

ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีระยะเวลาถึงปี 68 ทีโอทีจะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสทเพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่งจะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) โดยทีโอทีจะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า จากผู้สนใจ 6 รายที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นพันธมิตรคู่ค้าบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส รัดกุม ทุกขั้นตอนโดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการสรรหาคู่ค้าระดับโลก ซึ่งก็คือ บริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ ที่เริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าตั้งแต่ปลายปี 59 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการสรรหาคู่ค้าอย่างละเอียด ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา และตลอดจนผลตอบแทนเชิงพาณิชย์

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า ความร่วมมือกับทีโอทีนี้มีนัยสำคัญมากต่อการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยและการพัฒนาประเทศ เพราะเราได้นำคลื่น 2300 MHz ที่มีความกว้างที่สุดถึง 60 MHz มาเพิ่มคุณภาพบริการ และพลิกประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคที่จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้นมากกว่าเดิม

"การนำคลื่น 2300 MHz มาเปิดให้บริการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้อยู่ในอันดับผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยกระตุ้นกระบวนการการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล"นายลาร์ส กล่าว

โครงข่าย 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้งานทรัพยากรคลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ในทางเทคนิค TDD คือการใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน จึงทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับรูปแบบการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA Intelligence การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยคาดว่า TDD จะมีสัดส่วนทั่วโลกถึง 22% ในปี 63

ทั้งนี้ DTAC ระบุว่า บริษัทได้ประมาณการว่าการจัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมฯ มาเพื่อให้ ทีโอทีเช่าใช้ตามสัญญาเช่าฯ จะมีมูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 33,800 ล้านบาทตลอดช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ