Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการกีดกันพลเมืองมุสลิมเของ "ทรัมป์" จะก่อความวุ่นวายในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2017 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งแบนพลเมืองมุสลิมฉบับใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยห้ามพลเมืองจาก 6 ชาติมุสลิม ซึ่งได้แก่ ซูดาน ซีเรีย อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย และเยเมน เดินทางเข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้คำสั่งดังกล่าวจะสร้างความพอใจให้กับผู้สนับสนุนทรัมป์ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อทรัมป์เองในทุกๆด้าน

คำสั่งแบนพลเมืองมุสลิมของทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างตั้งแต่เดือนม.ค. เนื่องจากนักวิเคราะห์ตำหนิว่าการวางแผนและการดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ขณะที่ผู้สนับสนุนนายทรัมป์แก้ตัวว่า ท่านประธานาธิบดีก็แค่เพียงทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเท่านั้น

รายงานล่าสุดระบุว่า อัยการสูงสุดรัฐวอชิงตันเตรียมยื่นหนังสือขอให้ศาลสหรัฐพิจารณายับยั้งคำสั่งพิเศษฉบับใหม่ของประธานาธิบดี ซึ่งได้ห้ามพลเมืองจาก 6 ประเทศมุสลิมและผู้อพยพจากทั่วโลกเดินทางเข้าสหรัฐเป็นการชั่วคราว ขณะที่รัฐฮาวาย แมสซาชูเซตส์ และนิวยอร์ก ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ระงับคำสั่งฉบับปรับปรุงของปธน.ทรัมป์เช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ กัลดอเอริ จากวิทยาลัยเซนต์ แอนเซล์ม รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "นายทรัมป์และทีมงานยังคงเสนอกฏหมายกีดกันการข้ามพรมแดนตามนโยบาย 'Muslim ban' ที่เคยหาเสียงไว้ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างเข้มงวดบริเวณด่านศุลกากรและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง"

ในทางการเมืองนั้น การกีดกันดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาผู้สนับสนุนหลักของทรัมป์ไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ และอัตราการอพยพเข้าประเทศ ที่กลายมาเป็นเรื่องซึ่งชอบด้วยกฏหมาย

"โดยทางกฏหมายแล้วประเด็นต่างๆเหล่านี้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายจากความท้าทายในชั้นศาล และจะนำไปสู่การประท้วงอันไม่มีที่สิ้นสุด และฝั่งผู้ประท้วงก็จะตั้งคำถามต่อพรรครีพับลิกันว่า ทางพรรคสนับสนุนการกีดกันพลเมืองมุสลิมด้วยหรือไม่" นายกัลดอเอริกล่าว

ด้านนางคาร์ลีน โบว์แมน สมาชิกอาวุโสของสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวเช่นเดียวกันว่ ประเด็นดังกล่าวจะก่อให้เกิดข้อขัดแย้งตามมา

"สหรัฐถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างก็อยู่กันคนละขั้วในหลายๆประเด็น รวมถึงการตรวจคนเข้าเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันพลเมืองมุสลิมไม่ให้เดินทางมายังสหรัฐ นอกจากนี้ ผลสำรวจทุกแห่งยังบ่งชี้ถึงความคิดเห็นของประชาชนออกมาก่อนที่จะมีการแก้ไขกฏดังกล่าว ฉะนั้นสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายท่านจะออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแน่นอน" นางโบว์แมนอธิบาย

ส่วนนายดาร์เรลล์ เวสต์ รองประธานและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการปกครอง สังกัดสถาบัน Brookings Institution เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า มาตรการกีดกันพลเมืองมุสลิมจะยังคงเป็นจุดเริ่มต้นของข้อขัดแย้ง เนื่องจากพรรคเดโมแครตกำลังประณามการตัดสินใจดังกล่าวของทรัมป์ และพรรครีพับลิกันก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

"แนวทางแก้ปัญหาใหม่ของทรัมป์ยังคงห้ามประชาชนจากบางประเทศของมุสลิมเข้ามายังสหรัฐอยู่ดี แม้จะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นบุคคลต้องสงสัยก็ตาม ซึ่งหมายความว่าบรรดานักศึกษา, แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเหล่านั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรการกีดกันเช่นนี้จะผลักดันให้นักข่าวพากันตามหาคนเหล่านี้เพื่อมาสัมภาษณ์ เพื่อตีแผ่เรื่องราวชีวิตของพวกเขา เป็นการพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นมิใช่ผู้ก่อการร้าย" เวสต์ทิ้งท้าย

บทวิเคราะห์โดย แมทธิว รัสลิง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ