Analysis: นักวิเคราะห์ชี้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐ ได้สร้างความร้าวฉานระหว่างสหรัฐกับ EU

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 4, 2017 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์จากสถาบันในกรุงบรัสเซลส์ได้ออกมาเตือนว่า การที่สหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียระลอกใหม่นั้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่กระทบต่อความสัมพันธ์ภายในกลุ่มชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อีกทั้งโหมกระพือความระหองระแหงระหว่างสหรัฐกับ EU จากเดิมที่เกิดความร้าวฉานอยู่แล้วนับตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ

นางจูดี้ เดมพ์ซีย์ นักวิเคราะห์จากสถาบันคาร์เนกี ยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ แสดงความเห็นว่า ประเทศที่แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ "นอร์ด สตรีม 2" ซึ่งทอดตัวผ่านทะเลบอลติกและใช้สำหรับส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยัง EU นั้น ได้พิจารณามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐเป็นโอกาสดีในการกดดันให้เยอรมนียุติการสนับสนุนโครงการท่อส่งก๊าซดังกล่าว โดยเธอกล่าวย้ำด้วยว่า ความเป็นเอกภาพของยุโรปกำลังสั่นคลอนจากความขัดแย้งในโครงการดังกล่าว

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายฌองคล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกมาเตือนว่า EU พร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยุโรป หากถูกกระทบกระเทือนจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ปธน.ทรัมป์เพิ่งลงนามประกาศใช้

ทั้งนี้ ก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะลงนามอนุมัติร่างกฎหมายคว่ำบาตรฉบับใหม่นั้น สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 419 ต่อ 3 เสียง ขณะที่วุฒิสภาก็ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงขาดลอย 98 ต่อ 2 คะแนน ซึ่งตอกย้ำว่าสมาชิกสภาคองเกรสจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตได้มีฉันทามติที่จะลงโทษรัสเซียจากกรณีที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์ในประเทศยูเครน และการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในปลายปีที่แล้ว แม้ว่ารัฐบาลเครมลินจะยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ปธน.ทรัมป์จะระบุว่า กฎหมายคว่ำบาตรฉบับใหม่เป็นความบกพร่องที่ร้ายแรง แต่เขาก็ยอมลงนามบังคับใช้ "เพื่อเห็นแก่ความเป็นเอกภาพภายในประเทศ"

ภายใต้กฎหมายคว่ำบาตรดังกล่าว บริษัทต่างๆที่ให้การสนับสนุนรัสเซียในการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะถูกสหรัฐสั่งปรับเงิน ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการนอร์ด สตรีม 2 นี้มีบริษัทพลังงานจาก EU 5 แห่งที่ร่วมมือกับบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซีย

โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อขยายระบบท่อส่งก๊าซที่มีอยู่เดิม ซึ่งวางแนวทอดตัวใต้ทะเลบอลติกจากรัสเซียไปถึงเยอรมนี โดยผ่านอาณาเขตของยูเครน โปแลนด์ และรัฐบอลติก 3 ประเทศ ได้แก่ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย

ประเทศที่สนับสนุนโครงการนอร์ด สตรีม 2 โดยเฉพาะเยอรมนีและออสเตรียนั้น ให้เหตุผลว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับสหภาพยุโรปในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกับที่ EU กำลังลดการผลิตก๊าซภายในกลุ่มลง อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีจุดยืนคัดค้านอย่างโปแลนด์ สโลวาเกีย และรัฐบอลติกนั้น ต่างเห็นว่า โครงการทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวขัดแย้งกับแผนการของ EU ที่จะสร้างกลุ่มสหภาพพลังงานของยุโรปเองและลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียที่มากจนเกินไป

ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับรัฐบาลของปธน.ทรัมป์ตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่อยู่แล้ว หลังจากที่ทรัมป์ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆใน EU เพิ่มงบประมาณกลาโหมให้ได้สัดส่วน 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) นอกจากนี้ EU ยังเกิดความระแคะระคายกับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐในการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

นักวิเคราะห์มองว่า ในเวลานี้ได้เกิดความคลุมเครือขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่มีต่อผลประโยชน์ของ EU รวมถึงคำถามเกี่ยวกับ "มาตรการที่เหมาะสม" ที่สหภาพยุโรปจะใช้ในการตอบโต้สหรัฐ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายดังกล่าวได้สร้างบรรยากาศการเมืองที่อึมครึมขึ้น และได้เพิ่มชนวนความบาดหมางระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป

บทวิเคราะห์โดย เจิ้ง เจียงหัว สำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ