Analysis: เพราะเหตุใดเหตุกราดยิงที่ลาสเวกัสไม่อาจบีบสหรัฐให้ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดขึ้นได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 4, 2017 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุกราดยิงหมู่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญมองว่า โอกาสที่จะมีการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนฉบับใหม่นั้นเป็นเรื่องที่คงจะไม่เกิดขึ้น

การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่ลาสเวกัสนั้น มีผู้เสียชีวิตเกือบ 60 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 500 ราย มือปืนซึ่งอยู่ที่ชั้น 32 ของโรงแรมได้กราดยิงฝูงชนขณะที่อยู่ในคอนเสิร์ตเพลงคันทรี

สตีเฟน แพดด็อค มือปืนได้ยิงใส่ผู้มาร่วมคอนเสิร์ตที่มัณฑะเลย์ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ คาสิโน ซึ่งต่อมามือปืนรายนี้ได้ฆ่าตัวตาย และตำรวจก็ตรวจพบอาวุธปืนและระเบิดอีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า การหารือเรื่องนโยบายควบคุมอาวุธปืนยังเป็นเรื่องที่พอจะมีเวลาที่จะหารือกัน

จริงๆแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงขึ้นหลายครั้ง และหลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงก็มักจะมีการเรียกร้องให้ควบคุมอาวุธปืนมากยิ่งขึ้นในประเทศที่ประชาชนที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพได้รับอนุญาตให้ซื้อปืนได้อย่างถูกกฎหมาย

แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะไม่ออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธมากขึ้น

ดาร์เรล เวสท์ นักวิชาการประจำ Brookings Institution กล่าวกับซินหัวว่า เราไม่เห็นว่าทรัมป์หรือพรรครีพับลิกันจะออกมาผลักดันในเรื่องการควบคุมอาวุธปืนแต่อย่างใด ที่ผ่านมา ทรัมป์และพรรคไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพิ่มเติม และจุดยืนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเหตุกราดยิงที่เคยเกิดขึ้น

"แม้กระทั่งเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน Sandy Hook ก็ไม่ได้จุดชนวนให้มีการผลักดันเรื่องกฎหมายดังกล่าว" เวสท์ กล่าวถึงเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย รวมถึงเด็กๆที่โรงเรียนประถมแห่งนี้

เวสท์ กล่าวต่อไปว่า จุดยืนของพวกเขาในเรื่องการสนับสนุนให้ครอบครองอาวุธปืนนั้นแข็งแกร่ง และไม่ต้องการให้มีการจำกัดสิทธิเรื่องอาวุธปืนใดๆทั้งสิ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆได้พิจารณาเรื่องการควบคุมอาวุธปืนจากสามัญสำนึก และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้มือปืนไม่สามารถสะสมอาวุธหรือก่อเหตุกราดยิงได้ง่ายดาย

สิทธิในการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐให้การรับรองนั้น ถูกมองว่า เป็นสิ่งสำคัญในชุมชนในชนบทจำนวนมากของสหรัฐ ซึ่งเสียงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัมป์เดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วได้ อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องอาวุธปืนจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายควบคุมอาวุธปืน เนื่องจากมองว่า มีแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ในท้ายที่สุด

ในขณะที่อีกกลุ่มมองว่า มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการตรวจสอบภูมิหลังอย่างเข้มงวดมากขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้ว เพราะจะช่วยป้องกันผู้ที่มีประวัติก่อเหตุรุนแรงหรือป่วยทางจิตไม่ให้ครอบครองอาวุธปืน กลุ่มผู้สนับสนุนให้ควบคุมอาวุธปืนยังเชื่อด้วยว่า อาวุธปืนแบบที่กองทัพใช้งานและประชาชนสามารถหาซื้อได้นั้น ควรที่จะถูกแบนหรือมีการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากกว่านี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ทางออกของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การตรวจสอบภูมิหลังอย่างเข้มงวดมากขึ้นน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ปืนไรเฟิลและอาวุธที่ใช้ในแบบเดียวกันกับกองทัพตกอยู่ในมือของผู้ที่มีประวัติก่อเหตุรุนแรงและมีปัญหาทางจิต

กลุ่มผู้สนับสนุนอาวุธปืนมองด้วยว่า อาวุธปืนนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ผู้คนที่มีเจตนาไม่ดีต่างหากที่เป็นปัญหา และรัฐบาลเองก็ควรจะพิจารณาให้มากกว่านี้เกี่ยวกับปัจจัยที่จะผลักดันให้ผู้คนก่อเหตุกราดยิง

จริงๆแล้ว เหตุกราดยิงได้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่า กฎหมายควบคุมอาวุธปืนจะมีเนื้อหาเช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ เมื่อปี 2550 นักศึกษารายหนึ่งที่เวอร์จิเนีย เทค ได้สังหารผู้คนไปถึง 32 ราย ต่อมาเมื่อปี 2555 มือปืนที่มีอาการป่วยทางจิตได้บุกเข้าไปที่โรงเรียน Sandy Hook และสังหารผู้คนไป 28 ราย ซึ่งรวมถึงเด็กๆ และเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุมือปืนสังหารผู้คน 49 รายที่ไนท์คลับแห่งหนึ่งในเมืองออร์แลนโด และครั้งล่าสุด เหตุกราดยิงที่ลาสเวกัสทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหตุสังหารหมู่ กล่าวว่า หากใครคนใดคนหนึ่งตั้งใจที่จะก่อเหตุสังหารหมู่ เขาจะหาหนทางที่จะก่อเหตุให้ได้ ไม่ว่าตนเองจะมีอาวุธหรือไม่ โดยอาจจะหาทางผลิตระเบิดขึ้นมาเองเพื่อก่อเหตุ

แต่กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการควบคุมอาวุธปืนมองว่า การควบคุมอาวุธแบบอัตโนมัติอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น อาจจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยลงได้ เพราะอาวุธแบบกองทัพสามารถยิงออกไปได้หลายร้อยรอบภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม อาวุธประเภทอื่นๆสามารถยิงออกไปได้เพียงไม่กี่รอบ และหลังจากนั้นผู้ยิงก็จะต้องบรรจุกระสุนใหม่ ซึ่งช่วงเวลาบรรจุกระสุนใหม่นี้เองที่อาจจะเหลือเวลาให้เหยื่อได้วิ่งหลบหนีหรือแม้แต่หาทางปลดอาวุธของมือปืน

โดยแมทธิว รัสลิง

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ