แถลงการณ์ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐเดือนก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2014 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนมิ.ย.บ่งชี้ว่า การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ภาวะตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราว่างงานลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้วัดต่างๆเกี่ยวกับตลาดแรงงานบ่งชี้ว่ายังคงมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแรงงานในระดับที่ต่ำเกินไปอย่างมาก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นปานกลางและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจได้ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ขณะที่การฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยยังคงชะลอลง นโยบายการคลังกำลังสกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าผลกระทบกำลังลดน้อยลง ส่วนเงินเฟ้อได้ปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการ แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังคงทรงตัว

คณะกรรมการ FOMC พยายามที่จะสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวในระดับสูงสุดและสร้างเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเฟด คณะกรรมการคาดว่า ด้วยการผ่อนคลายนโยบายอย่างเหมาะสม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวปานกลาง และภาวะตลาดแรงงานจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับที่คณะกรรมการพิจารณาว่าสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก 2 ประการ คณะกรรมการเล็งเห็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ซึ่งเกือบจะมีความสมดุล และประเมินว่าความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะปรับตัวต่ำกว่า 2% อย่างต่อเนื่องนั้น ได้ลดลงไปบ้าง

ในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการพิจารณาว่ามีเศรษฐกิจโดยรวมมีความแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอที่จะช่วยหนุนการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาวะตลาดแรงงาน และหลังจากมีความคืบหน้ามากขึ้นสู่การจ้างงานในระดับสูงสุดและการปรับตัวดีขึ้นของแนวโน้มสำหรับตลาดแรงงาน นับตั้งแต่เริ่มโครงการซิ้อสินทรัพย์ในปัจจุบันนั้น คณะกรรมการได้ตัดสินใจที่จะปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงอย่างระมัดระวังต่อไป ซึ่งจะเริ่มในเดือนส.ค. โดยคณะกรรมการจะซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในวงเงิน 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากเดิม 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุการไถ่ถอนนานขึ้นในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากเดิม 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน คณะกรรมการยังคงดำเนินนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากการถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและ MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ไปลงทุนใหม่ใน MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และเข้าซื้อพันธบัตรชุดใหม่เมื่อพันธบัตรเดิมครบกำหนดไถ่ถอนในการประมูล การที่คณะกรรมการยังคงถือครองตราสารหนี้ระยะยาวขึ้นในจำนวนมากและยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นนั้น น่าจะสร้างแรงกดดันช่วงขาลงต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว ช่วยหนุนตลาดจำนอง และช่วยทำให้ภาวะทางการเงินในวงกว้างมีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งต่อจากนั้นก็น่าจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจว่า เมื่อเวลาผ่านไป เงินเฟ้อจะอยู่ในอัตราที่สอดคล้องมากที่สุดกับเป้าหมายหลัก 2 ประการของคณะกรรมการ

คณะกรรมการจะจับตาดูข้อมูลที่กำลังจะมีการเปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าทางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงหลายเดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิด และจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและ MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน รวมทั้งใช้เครื่องมือด้านนโยบายอื่นๆตามความเหมาะสมจนกว่าแนวโน้มของตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในบริบทของความมีเสถียรภาพด้านราคา หากข้อมูลที่กำลังจะมีการเปิดเผยโดยรวมได้ช่วยหนุนการคาดการณ์ของคณะกรรมการในประเด็นเกี่ยวกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาวะตลาดแรงงานและการที่เงินเฟ้อปรับตัวกลับมาอยู่ใกล้เป้าหมายระยะยาว คณะกรรมการก็มีแนวโน้มจะปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในอัตราที่ระมัดระวังต่อเนื่องในการประชุมครั้งต่อๆไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม การซื้อสินทรัพย์ไม่ได้เป็นแนวทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจของคณะกรรมการเกี่ยวกับขนาดการซื้อสินทรัพย์จะยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มสำหรับตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของทางคณะกรรมการ รวมทั้งการประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพและต้นทุนที่มีความเป็นไปได้ของการซื้อดังกล่าว

ในส่วนของการสนับสนุนให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องสู่การจ้างงานสูงสุดและความมีเสถียรภาพด้านราคานั้น คณะกรรมการได้ยืนยันอีกครั้งในวันนี้ถึงมุมมองที่ว่าท่าทีที่ผ่อนคลายอย่างมากด้านนโยบายการเงินจะยังคงมีความเหมาะสม และในการที่จะตัดสินใจว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ไว้ในระดับปัจจุบันที่ 0-0.25% ต่อไปนานเพียงใดนั้น คณะกรรมการจะประเมินความคืบหน้าสู่เป้าหมายของการจ้างงานในระดับสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% ทั้งในแง่ความเป็นจริงและคาดการณ์ การประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงการประเมินภาวะตลาดแรงงาน, ปัจจัยชี้วัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ และการพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงิน เมื่ออิงกับการประเมินปัจจัยเหล่านี้ คณะกรรมการยังคงคาดว่ามีแนวโน้มที่จะมีความเหมาะสมในการคงช่วงเป้าหมายในปัจจุบันสำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานหลังจากโครงการซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเงินเฟ้อที่คาดไว้จะยังคงปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ของคณะกรรมการ และหากการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม

เมื่อคณะกรรมการตัดสินใจที่จะเริ่มยกเลิกนโยบายผ่อนคลาย ก็จะใช้วิธีการที่มีความสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวว่าด้วยการจ้างงานในระดับสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% โดยในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการคาดว่า แม้ว่าหลังจากการจ้างงานและเงินเฟ้อปรับตัวใกล้ระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ต่ำกว่าระดับที่คณะกรรมการมองว่าเป็นระดับปกติในระยะเวลาที่นานขึ้น

สำหรับผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ได้แก่ เจเน็ต แอล. เยลเลน ประธานเฟด, วิลเลียม ซี. ดัดลีย์ รองประธานเฟด, เลล เบรนาร์ด, สแตนลีย์ ฟิสเชอร์, ริชาร์ด ดับเบิลยู. ฟิชเชอร์, นารายานา โคเชอร์ลาโคตา, ลอเร็ตตา เจ. เมสเตอร์, เจอโรม เอช. เพาเวล และ แดเนียล เค. ทารุลโล

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว คือ ชาร์ลส์ ไอ. พลอสเซอร์ ซึ่งคัดค้านแนวทางที่ระบุว่ามีแนวโน้มจะมีความเหมาะสมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในช่วงเป้าหมายในปัจจุบันเป็น “ระยะเวลานานหลังจากโครงการซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลง" เนื่องจากการใช้ภาษาดังกล่าวเป็นการขึ้นอยู่กับเวลา และไม่ได้สะท้อนถึงความคืบหน้าอย่างมากทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้เดินหน้าใกล้เป้าหมายของคณะกรรมการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ