แถลงการณ์ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐเดือนธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 18, 2014 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนต.ค.บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังขยายตัวในอัตราปานกลาง ภาวะตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและอัตราว่างงานลดต่ำลง เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ปัจจัยชี้วัดต่างๆเกี่ยวกับตลาดแรงงานบ่งชี้ว่าภาวะการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำเกินไปจากทรัพยากรด้านแรงงานนั้น ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้นปานกลาง และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยยังคงชะลอลง เงินเฟ้อยังคงปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการร่วงลงของราคาพลังงาน มาตรวัดการชดเชยเงินเฟ้อที่อิงกับตลาดได้ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรวัดการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวที่อิงกับผลสำรวจยังคงทรงตัว

คณะกรรมการ FOMC พยายามที่จะสนับสนุนการจ้างงานในระดับสูงสุดและความมีเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเฟด คณะกรรมการคาดว่า ด้วยการผ่อนคลายนโยบายอย่างเหมาะสม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราปานกลาง โดยปัจจัยชี้วัดตลาดแรงงานกำลังปรับตัวใกล้ระดับที่คณะกรรมการพิจารณาว่าสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก 2 ประการของเฟด คณะกรรมการเล็งเห็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ซึ่งเกือบจะมีความสมดุล โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 2% ขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และผลกระทบชั่วคราวจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลงและปัจจัยอื่นๆ ค่อยๆลดน้อยลง คณะกรรมการจะยังคงจับตาดูความคืบหน้าด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ในส่วนของการสนับสนุนให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องสู่การจ้างงานสูงสุดและความมีเสถียรภาพด้านราคานั้น คณะกรรมการได้ยืนยันอีกครั้งในวันนี้ถึงมุมมองที่ว่า ช่วงเป้าหมายในปัจจุบันของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ที่ 0-0.25% นั้น ยังคงมีความเหมาะสม และในการที่จะตัดสินใจว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ช่วงเป้าหมายนี้ต่อไปนานเพียงใดนั้น คณะกรรมการจะประเมินความคืบหน้าสู่เป้าหมายของการจ้างงานในระดับสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% ทั้งในแง่ความเป็นจริงและคาดการณ์ การประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงการประเมินภาวะตลาดแรงงาน, ปัจจัยชี้วัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ตลอดจนการพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงินต่างๆ เมื่ออิงกับการประเมินในปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณาว่าเฟดสามารถอดทนรอได้ในการเริ่มปรับท่าทีด้านนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และมองว่าสัญญาณชี้นำนี้สอดคล้องกับแถลงการณ์ครั้งก่อนของเฟด ซึ่งระบุว่ามีแนวโน้มที่จะมีความเหมาะสมในการคงช่วงเป้าหมายที่ 0-0.25% สำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานหลังจากยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ในเดือนต.ค. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเงินเฟ้อที่คาดไว้จะยังคงปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ของคณะกรรมการ และหากการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลที่กำลังจะมีการเปิดเผยบ่งชี้ถึงความคืบหน้าสู่เป้าหมายด้านการจ้างงานและด้านเงินเฟ้อของคณะกรรมการในอัตรารวดเร็วกว่าที่คณะกรรมการคาดการณ์ในขณะนี้ การปรับเพิ่มช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดกันไว้ในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน หากความคืบหน้ามีความล่าช้ากว่าที่คาด การปรับเพิ่มช่วงเป้าหมายดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน

คณะกรรมการยังคงดำเนินนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากการถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ไปลงทุนใหม่ใน MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และเข้าซื้อพันธบัตรชุดใหม่เมื่อพันธบัตรเดิมครบกำหนดไถ่ถอนในการประมูล นโยบายนี้ ซึ่งคณะกรรมการจะยังคงถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาวขึ้นเป็นจำนวนมาก น่าจะยังคงช่วยให้ภาวะทางการเงินมีความเหมาะสม

เมื่อคณะกรรมการตัดสินใจที่จะเริ่มยกเลิกการผ่อนคลายด้านนโยบาย ก็จะใช้วิธีการที่มีความสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวว่าด้วยการจ้างงานในระดับสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% โดยในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการคาดว่า แม้ว่าหลังจากการจ้างงานและเงินเฟ้อปรับตัวใกล้ระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจอาจจะเป็นเหตุผลในการคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ต่ำกว่าระดับที่คณะกรรมการมองว่าเป็นระดับปกติในระยะยาว ต่อไปสักระยะหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ได้แก่ เจเน็ต แอล. เยลเลน ประธานเฟด, วิลเลียม ซี. ดัดลีย์ รองประธานเฟด, เลล เบรนาร์ด, สแตนลีย์ ฟิสเชอร์, ลอเร็ตตา เจ. เมสเตอร์, เจอโรม เอช. เพาเวล และ แดเนียล เค. ทารุลโล

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว ได้แก่ ริชาร์ด ฟิชเชอร์, นารายานา โคเชอร์ลาโคตา และ ชาร์ลส์ ไอ พลอสเซอร์

ริชาร์ด ฟิชเชอร์ เชื่อว่า ขณะที่คณะกรรมการควรมีความอดทนในการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกตินั้น การปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐนับตั้งแต่เดือนต.ค. ซึ่งฟื้นตัวมากกว่าที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ประเมินไว้ ได้บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่มีแนวโน้มจะมีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ทางด้านนารายานา โคเชอร์ลาโคตา เชื่อว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการ ในบริบทของเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่องและการปรับตัวลงของมาตรวัดคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวที่อิงกับตลาดนั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงช่วงขาลงที่ไม่เหมาะสมต่อความน่าเชื่อถือของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ชาร์ลส์ ไอ พลอสเซอร์ มองว่าแถลงการณ์ไม่ควรเน้นถึงความสำคัญของข้อความเกี่ยวกับเวลา ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) ของคณะกรรมการ และเมื่อพิจารณาถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาวะทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับความสอดคล้องของสัญญาณชี้นำล่วงหน้าในปัจจุบันกับแถลงการณ์ครั้งก่อนๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ