สัญญาฟิวเจอร์บ่งชี้นักลงทุนลดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2015 23:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาซื้อขายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นล่วงหน้า ซึ่งมักบ่งชี้แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในวันนี้ว่า นักลงทุนมองว่ามีแนวโน้มเพียง 28% เท่านั้น ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า

ตัวเลขแนวโน้มดังกล่าวถือว่าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญล่าสุดที่ทำให้เฟดตัดสินใจยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า ได้แก่ ภาวะผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ

ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในวันนี้ โดยดิ่งลงกว่า 1,000 จุด และปรับตัวลงติดต่อกัน 5 วันทำการ ขณะที่ร่วงลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐและจีน

ณ เวลา 20.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ทรุดลง 1,070.51 จุด หรือ 6.50% สู่ระดับ 15,389.24 จุด โดยร่วงลงใกล้หลุดระดับ 15,000 จุด

ในเดือนนี้ ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2009

ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดตลาดวันนี้ร่วงลงเกือบ 300 จุด เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง แม้ว่าทางการจีนใช้มาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นและเศรษฐกิจก็ตาม

ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตดิ่งลง 297.84 จุด หรือ 8.49% ปิดที่ 3,209.91 จุดในวันนี้ โดยเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดภายใน 1 วันนับตั้งแต่ปี 2007

เมื่อวานนี้ สภาแห่งรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติขั้นสุดท้ายว่าด้วยการลงทุนสำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะเปิดทางให้กองทุนเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และกระจายการลงทุนอย่างหลากหลายมากขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงมากกว่า 500 จุดเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันในวันศุกร์ และในสัปดาห์ที่แล้ว ดาวโจนส์ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2011

มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีในเดือนส.ค.

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนส.ค. ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกันไคซิน อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ที่ระดับ 47.8

ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตของจีน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตดังกล่าวร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ