ECB แนะธนาคารที่เล็งย้ายกิจการออกจากอังกฤษจากผลพวง Brexit ให้รีบตัดสินใจดำเนินการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางซาบีเน เลาท์เอนชะเลเกอร์ รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวเตือนผ่านทางจดหมายข่าวที่มีการเผยแพร่วานนี้ว่า ธนาคารทุกแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้น ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ "hard Brexit" ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกับแนะนำว่า ธนาคารที่มีความสนใจย้ายฐานการดำเนินงานจากอังกฤษไปยังประเทศอื่นๆในยูโรโซนนั้น ควรเร่งตัดสินใจโดยเร็ว

นางเลาท์เอนชะเลเกอร์ ระบุในจดหมายข่าวว่า "ธนาคารขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งมีความคืบหน้าในการวางแผนเป็นอย่างดี แต่ก็มีธนาคารหลายแห่งที่ยังไม่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย และดูเหมือนธนาคารเหล่านั้นจะมีความระมัดระวังในการตัดสินใจ ขณะที่เมืองต่างๆในยูโรโซน เช่น ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต ดับลิน ลักเซมเบิร์ก และอัมสเตอร์ดัม ต่างก็อ้าแขนรับธนาคารจากอังกฤษ"

"เวลากระชั้นชิดเข้าไปทุกขณะสำหรับเราในการประเมินแผนการและพิจารณาใบอนุญาตตามกฎระเบียบของเรา" นางเลาท์เอนชะเลเกอร์ ย้ำเตือน

การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปตามกรอบระยะเวลา 2 ปีได้เปิดฉากขึ้นในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะจัดประชุมอีกครั้งในสิ้นเดือนนี้ แต่ภาคธนาคารยุโรปยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงตลาดอังกฤษ

นอกจากนี้ นางเลาท์เอนชะเลเกอร์ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า "ถึงแม้กรุงลอนดอนจะคงสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเอาไว้ได้ แต่ที่นั่นก็ไม่ใช่ประตูทางเข้าอัตโนมัติสำหรับสหภาพยุโรปอีกต่อไป"

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับนโยบายกำกับดูแลภาคธนาคารในระหว่างที่กระบวนการ Brexit ดำเนินไปอยู่นั้น นางเลาท์เอนชะเลเกอร์ กล่าวว่า ECB มีจุดยืนด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระดับชาติอีกจำนวนหนึ่ง

"จุดยืนด้านนโยบายเหล่านี้ก็คือการสร้างความชัดเจนถึงวิธีการปฏิบัติต่อธนาคารต่างๆภายใต้บริบทของ Brexit โดยที่จะไม่มีการโอนอ่อนผ่อนปรนต่อกฎเกณฑ์ของเราอย่างแน่นอน" เธอกล่าวเสริม

ปัจจุบัน ECB มีอำนาจเต็มที่ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการของทุกธนาคารในยูโรโซน ไม่ว่าธนาคารเหล่านั้นจะมีขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม โดย ECB จะตรวจสอบการจัดตั้งธนาคารใหม่อย่างใกล้ชิดในระหว่างที่มีการพิจารณาอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการสร้างธนาคาร "ที่มีแต่เปลือกนอก" ในยูโรโซน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารยุโรป (Single Supervisory Mechanism) ในปี 2014 เป็นต้นมานั้น ECB ก็ได้รับบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาคธนาคารในยูโรโซน โดยปัจจุบัน ECB กำกับดูแลธนาคาร 124 แห่งโดยตรง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 82% ของสินทรัพย์ภาคธนาคารในยูโรโซน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ