Roundup: ผู้เชี่ยวชาญชี้ข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐเป็นเพียงปัจจัยหนุนตลาดเกิดใหม่ในระยะสั้นเท่านั้น

ข่าวต่างประเทศ Friday October 18, 2013 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่ตลาดทั่วโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อยขานรับการบรรลุข้อตกลงเพื่อขยายเพดานหนี้ของสหรัฐในช่วงนาทีสุดท้าย ซึ่งช่วยให้มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้นั้น บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายไม่ควร “นิ่งนอนใจ" เนื่องจากความท้าทายต่างๆของเศรษฐกิจมหภาคก่อตัวมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจยังมีอยู่อีกมาก

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ว่าเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา และรีพับลิกัน พรรคฝ่ายค้านจะมีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานหนี้จำนวนกว่า 16.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ. 2557 แต่ตลาดเกิดใหม่ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่างเล็งเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง ตลอดจนความท้าทายต่างๆของเศรษฐกิจมหภาคที่มีมากขึ้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.9% ลดลง 0.3% จากระดับที่ประเมินไว้ในเดือนก.ค.

นายจอร์จ อาเบด ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลางของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) กรุงวอชิงตัน ระบุในงานวิจัย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า “การขยายตัวของเศรษฐกิจของบรรดาตลาดเกิดใหม่กำลังชะลอตัวลงเป็นวงกว้าง ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายเกียร์ฮาร์ด ชูบาร์ต หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์จาก Emirates NBD ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของดูไบเผย “ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นเรื่องที่น่าตำหนิ"

ในการแสดงความเห็นรายสัปดาห์เกี่ยวกับภาวะตลาด ชูบาร์ตกล่าวว่า ขณะที่การส่งออกของจีนลดลง 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ “การนำเข้าพุ่งขึ้น 7.4% และยอดเกินดุลการค้าของจีนยังดีดขึ้นแตะระดับ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนดังกล่าว" นอกจากนี้ เขายังวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของอินเดีย พร้อมระบุว่า “ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอินเดียในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก และยังต่ำกว่าในเดือนส.ค. ที่ระดับ 2.75% เมื่อเทียบเป็นรายปี"

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังย่ำแย่ลงก็ยังเป็นปัจจัยที่ถ่วงรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจของอินเดียในอนาคตอีกด้วย

ด้านนายทิม รี้ด ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของธนาคาร HSBC ในดูไบเผยว่า อินเดียต้องใช้งบประมาณคิดเป็นมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในปี 2561 พร้อมระบุตัวเลขอ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย

นายอาเบดกล่าวจากมุมมองภายนอกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ปรับตัวลดลง “ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร่วงลงอย่างมาก โดยในเบื้องต้นพบว่า ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง แต่อินเดีย และอินโดนีเซียก็มียอดขาดดุลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นด้วย

เขาเสริมว่า ตลาดเกิดใหม่บางประเทศกำลังต่อสู้กับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ “ในขณะที่บราซิล, อินเดีย และอินโดนีเซีย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และช่วยหนุนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่อ่อนค่าลง แต่ทว่าหลายประเทศในยุโรปกลางกลับปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ"

สำหรับปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับหนี้สินของสหรัฐนั้น อาเบดมองว่า หนี้สินต่างๆของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย เขาอธิบายว่า ภาคเอกชนของจีนมีสัดส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ 145% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (ที่ระดับ17-50%) รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่

“บราซิล, ตุรกี, โปแลนด์ และรัสเซียต่างมีหนี้ภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่หนี้สินภาคเอกชนของเม็กซิโก และซาอุดิอาระเบีย เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนแอฟริกาใต้มีหนี้ประเภทดังกล่างลดลง" อาเบดกล่าว “จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย และตุรกีต่างต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปของรัฐบาลในอนาคต"

ด้านนายอาร์จูนา แมเฮนแดรน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนจาก Emirates NBD แนะนำให้ซื้อหุ้นสหรัฐแทนหุ้นตลาดเกิดใหม่ในช่วงนี้ โดยเขาคาดว่าตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติการคลัง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ