In Focus"Home Automation" ระบบอัจฉริยะที่ทุกอย่างเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2014 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บ้านในอนาคตที่มีหุ่นยนต์คอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆเรื่องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วในโลกภาพยนต์วิทยาศาสตร์หรือไซไฟ แต่โลกเทคโนโยลีก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นความจริง

ภายในอีกไม่นาน ทุกอย่างนับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ในสวนหย่อมไปจนถึงผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำจะถูกควบคุมผ่านการสัมผัสบนหน้าจอสมาร์ทโฟนโดยไม่จำเป็นต้องย่างเท้าเข้าไปในบ้าน บุคคลที่กำลังเดินทางกลับบ้านสามารถสั่งปิดระบบรักษาความปลอดภัยพร้อมกับเปิดฝักบัวและเครื่องปรับอากาศรอ

แนวความคิดในการติดตั้งเซ็นเซอร์ให้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวันและเชื่อมต่อเข้ากับเว็บ หรือที่เรียกว่า Internet of Things ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่การประกาศของกูเกิลถึงการเข้าซื้อกิจการของเนสท์ (Nest) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ภายในบ้านที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตในวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ถึงความตั้งใจที่จะบุกตลาดเกิดใหม่นี้

เจสัน จอห์นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของออกัส (August) ผู้ผลิตระบบกุญแจอัจฉริยะซึ่งควบคุมด้วยแอพสมาร์ทโฟน กล่าวว่า "กูเกิลแสดงให้เห็นว่า Internet of Things ไม่ใช่แค่แฟชั่นแต่เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นบริษัทใหญ่ๆมีความจริงจังในเรื่องนี้"

ในช่วงที่ผ่านมา ความก้าวหน้าที่สำคัญๆจะถูกคิดค้นโดยบริษัทขนาดเล็ก โดย SmartThings ซึ่งเป็นบริษัทก่อตั้งใหม่ในวอชิงตัน ดี.ซี ได้เริ่มทำการตลาดเซนเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถตรวจวัดระดับความชื้นและความเคลื่อนไหว ในขณะที่ Canary ในนิวยอร์กกำลังพัฒนาระบบกล้องวิดีโอรักษาความปลอดภัยที่สามารถแจ้งเตือนหากตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ คุณภาพอากาศ ความเคลื่อนไหว และอื่นๆ

การบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการของกูเกิลบ่งชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ได้กำหนดตำแหน่งของตนเองในฐานะผู้พัฒนาด้วยเช่นกัน บริษัทเคเบิ้ลหลายราย ซึ่งรวมไปถึงไทม์ วอร์เนอร์ เคเบิ้ล และ เอทีแอนด์ที ต่างก็นำเสนอระบบการเชื่อมต่อภายในบ้านซึ่งรวมไปถึงเครื่องใช้ในครัวเรือนและหลอดไฟ แม้แต่ Staples ซึ่งเป็นห้างค้าปลีก ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ เช่น หลอดไฟที่สามารถควบคุมได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน

แอ็ปเปิ้ลก็มีท่าทีให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยในระดับหนึ่ง เช่น ระบบ AirPlay ของบริษัทช่วยให้โทรศัพท์ไอโฟนกลายเป็นรีโมทคอนโทรล นอกจากนี้ แอปเปิ้ลยังได้จดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ด้านการควบคุมอุปกรณ์ทุติยภูมิ ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์ภายในบ้านจำนวนหลายรายการ

นอกจากนี้ บริษัทด้านการลงทุนยังไม่พลาดกระแส และได้อัดฉีดเม็ดเงินลงทุนไปแล้วเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในผลิตภัณฑ์และบริษัทที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตนับตั้งแต่ปี 2555

ยีน มุนสเตอร์ นักวิเคราะห์ของไพเพอร์ แจฟเฟรย์ กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ได้รับแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน นั่นก็คือ ตลาดอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตทั่วโลกซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงอีก 5-7 ปีข้างหน้า

แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังอีกมีหลายปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันมากกว่าเรื่องเงิน นั่นก็คือโอกาสในการมีพื้นที่ในคลื่นลูกใหม่แห่งวงการคอมพิวเตอร์และความเป็นไปได้ในการเป็นแบรนด์สินค้าในครัวเรือนด้านผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค หรือบางทีอาจจะกลายเป็นบริษัทแอปเปิล หรือเจเนอรัล อิเล็กทริก ในยุคถัดไป

แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เพื่อให้ไปถึงจุดดังกล่าว บริษัทก่อตั้งใหม่แต่ละรายจะต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการเพื่อให้มีพื้นที่ในตลาดสินค้าผู้บริโภคที่มีการแข่งขันกันสูง

สินค้ารายการแรกๆที่น่าตื่นเต้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่สวมใส่ได้ เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ หรือสายรัดข้อมือสำหรับฟิตเนส อุปกรณ์เหล่านี้จะทำหน้าที่ติดตามระดับการทำกิจกรรมหรือตรวจวัดสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจหรือระดับความดันโลหิต

แต่เนื่องจากเซ็นเซอร์มีศักยภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ราคาปรับตัวลดลง จึงมีความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์อัจฉริยะจะขยายไปสู่สินค้าอื่นๆด้วยเช่นกัน สิ่งที่นักการตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกก็คือการประเมินอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การเชื่อมต่อบ้านเข้ากับอินเตอร์เน็ตยังนับว่าเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยในปัจจุบัน อุปกรณ์อัจฉริยะยังคงมีราคาที่สูงกว่าอุปกรณ์ธรรมดาหลายเท่าตัว ตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจจับควันและคาร์บอน โมนอกไซด์ อัจฉริยะของเนสท์เสนอขายในราคา 129 ดอลลาร์ ในขณะที่ราคาของอุปกรณ์ทั่วไปอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ เนสท์ประเมินว่า อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะราคา 249 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดของบริษัท มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในสหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้คนจำนวนมากยังลังเลที่จะเพิ่มแอพพลิเคชั่นและบริการด้านดิจิตอลเข้ามาในชีวิตประจำวัน ในขณะที่อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีอยู่ในตลาดยังไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เนื่องจากแต่ละบริษัทต่างก็การเป็นผู้นำในบริการนั้นๆ

ดังนั้น หลายอุปกรณ์จึงได้สร้างข้อมูลและรายละเอียดจำนวนมาก จนผู้ใช้ได้รับข้อความแจ้งเตือนที่มากเกินไปหรือไม่ก็เป็นข้อมูลที่ทำความเข้าใจได้ยาก

แต่อย่างไรก็ดี หลายบริษัทเชื่อว่าผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่หลากหลายคือจุดขายที่แข็งแกร่ง และผู้บริโภคจะมีความคุ้นเคยในที่สุด

เซดริค ฮัทชิงส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Withings ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านการดูแลสุขภาพที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดระดับการนอนหลับ กล่าวว่า "แนวความคิดในการนำดิจิตอลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มที่มีการวัดผลทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะวิเคราะห์และปรับปรุงเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้น"

ทั้งนี้ Withings เป็นบริษัทเอกชนและไม่เปิดเผยยอดขาย แต่ผู้ก่อตั้งก็ระบุว่า บริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อุปกรณ์อัจฉริยะยังทำให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เนื่องจากแฮกเกอร์สามารถเจาะข้อมูลระบบกุญแจอัจฉริยะและระบบการรักษาความปลอดภัยภายในบ้านได้ ตัวอย่างเช่น มีความสงสัยว่า ข้อมูลที่ผลิตภัณฑ์เก็บรวบรวมอาจจะถูกนำไปใช้โดยบริษัทผู้ผลิต

ออกัส ผู้ผลิตระบบกุญแจอัจฉริยะได้ระงับการส่งสินค้าไปจนกว่าบริษัทจะมั่นใจว่าระบบของบริษัทจะไม่ถูกเจาะข้อมูล ถึงแม้จะระบุว่า บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากหลายหมื่นครอบครัว แต่ก็มีการชะลอการติดตั้งเพื่อทดสอบอย่างละเอียดโดยนักวิจัยด้านความปลอดภัย โดยสแกนหาจุดอ่อนของซอฟต์แวร์

แต่ถึงแม้ว่าจะขาดความไม่มั่นใจในเรื่องดังกล่าว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ยังมีความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นไปได้ การรุกซื้อธุรกิจของกูเกิลในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจน และได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจและบริษัทก่อตั้งใหม่ที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงกำลังขยายตัวในตลาดที่กำลังเติบโต

อเล็กซ์ ฮอว์คินสัน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SmartThings กล่าวว่า "ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน ความเคลื่อนไหวของหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ส่งผลให้ทุกคนเริ่มต้นคิดในเรื่องดังกล่าว ยักษ์ใหญ่กำลังตื่นในเรื่องการคว้าโอกาส ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเร็วขึ้น"

แต่อย่างไรก็ดี ฮอว์คินสันกล่าวว่า ข่าวเกี่ยวกับการซื้อกิจการของกูเกิลทำให้เขาทั้งตื่นเต้นและหวาดวิตกโดยรู้สึกว่าเขาก็มีโอกาสที่ดีที่เช่นเดียวกับนักธุรกิจรายอื่นๆ

"กูเกิลนำมาซึ่งสังคมความรู้ ต่อมาก็มีเฟซบุ๊กในเรื่องสังคมออนไลน์" เขากล่าว "เรามีสิ่งเหล่านี้เกิดมาคู่กับเรา แต่ก็ต้องรอดูว่าจะมีอะไรต่อไป"

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าครอบครัวไทยจะยังไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์อัจฉริยะและระบบโฮมออโตเมชั่น แต่เมื่อพิจารณาถึงตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังเติบโตในเมืองไทย เราคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ทุกสิ่งรอบตัวเราจะเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในเรื่องการควบคุมอุปกรณ์และการรักษาความปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ