Xinhua Insight: ผู้ว่าฯแบงก์ชาติจีนส่งสัญญาณยืดหยุ่นนโยบายการเงิน ขณะเสี่ยงเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2015 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทุกครั้งที่นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆก็ตาม ตลาดมักจะให้ความสนใจเสมอ โดยในขณะที่จีนพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการปรับโครงสร้าง และรับมือกับความเสี่ยงด้านเงินฝืดนั้น นายโจวก็ยังออกมาส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ธนาคารกลางจะยืดหยุ่นนโยบายการเงิน แม้จีนยังคงยึดมั่นในนโยบายการเงินที่รัดกุมก็ตาม

จุดเปลี่ยนด้านนโยบาย

นายโจวกล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับนโยบายการเงินที่รัดกุมนั้น ให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งถ้อยแถลงของเขามีความสอดคล้องกับที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนซึ่งกล่าวในระหว่างการเปิดประชุมรัฐสภา

นายโจวย้ำว่า จีนจะยึดมั่นในนโยบายการเงินที่รัดกุม แม้ว่ามีการใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินใหม่ๆหลายแบบ พร้อมกับกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่มากนั้น ขอบข่ายการใช้เครื่องมือนโยบายยังถือว่าไม่ใหญ่มาก

เขากล่าวว่า ท่ามกลางภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจจีนได้เข้าสู่ยุค “ดุลยภาพใหม่" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะย่ำแย่จากปัญหาต่างๆ และนโยบายการเงินของประเทศเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

การเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ขยายตัวเพียง 6.8% ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. ขณะที่ยอดค้าปลีกช่วง 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากเดือนธ.ค.ที่ขยายตัว 11.9%

จีนเสี่ยงเผชิญเงินฝืด

สำหรับในประเด็นเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงด้านเงินเฟ้อของจีนที่มีต่อการกำหนดนโยบายการเงินนั้น นายโจวกล่าวว่า "เราควรให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และควรทบทวนมุมมองในระยะยาวด้วย"

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ปรับขึ้น 1.4% เทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.8% ในเดือนม.ค.ที่เป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ราว 3% สำหรับปีนี้

นายยี่ กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ดัชนี CPI เป็นมาตรวัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สำคัญ และธนาคารกลางจีน "ติดตาม" การเปลี่ยนแปลงของดัชนี CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) อย่างใกล้ชิด

ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวมีแนวโน้มจะไม่ยั่งยืน ซึ่งย้ำให้เห็นว่าจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความเสี่ยงด้านฝืด

นอกจากนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการผ่อนคลายด้านการเงินเมื่อเร็วๆนี้ ได้ช่วยกระตุ้นกระแสเงินทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นหรือไม่ นายโจวเตือนว่า การทำธุรกรรมบางอย่างในตลาดการเงินเป็นการเก็งกำไร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องการระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง

"เราไม่สามารถระบุได้ว่ามีเม็ดเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นหรือไม่ ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจจากหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้ระดมทุนผ่านทางตลาดหุ้น" นายโจวกล่าว

บทความโดย เจียง ซูฟิง รายงานโดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ