World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 20, 2018 09:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางออสเตรเลียเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยลดการว่างงาน และหนุนอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.25% ภายในช่วงกลางปี 2563 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางได้แสดงความกังวลว่า การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะเป็นปัจจัยขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

--นายเฮง สวี เคียต รมว.คลังสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมปรับเพิ่มภาษีบริโภคเป็น 9% จากปัจจุบันที่ระดับ 7% เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลในการรับมือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นขณะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เขากล่าวว่า การเพิ่มภาษีจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้ราว 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

--แหล่งข่าวระบุว่า ดอยซ์แบงก์เตรียมปลดพนักงานในธุรกิจวาณิชธนกิจอย่างน้อย 250 คนในสำนักงานสาขาต่างๆ ซึ่งรวมถึงในลอนดอนและสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงขึ้นถึง 500 ราย

ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ดอยซ์แบงก์กำลังปลดพนักงานอาวุโส และพนักงานระดับกลางในธุรกิจวาณิชธนกิจ

ทั้งนี้ ดอยซ์แบงก์มีพนักงานในฝ่ายธุรกิจ Corporate และวาณิชธนกิจจำนวน 17,251 คนในช่วงปลายปี 2560

นอกจากนี้ ดอยซ์แบงก์อยู่ในระหว่างการปลดพนักงาน 9,000 คนจากระดับในปี 2558 หรือประมาณ 1 ใน 10 คน โดยคาดว่าจะมีการปลดพนักงาน 4,000 คนในเยอรมนี

--ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศระงับการชำระเงินของธนาคาร ABLV ของลัตเวียเมื่อวานนี้ ขณะที่ธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังจากที่ถูกสหรัฐกล่าวหาว่าได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐได้ออกมาตรการคว่ำบาตร ABLV เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวหาว่า ABLV ได้อนุญาตให้ลูกค้าทำธุรกิจกับเกาหลีเหนือ และทำธุรกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อหรือส่งออกขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติต่อโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

--นายเจแคบส์ สตรอม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันการทุจริตแห่งชาติของลัตเวีย (CPB) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จาก CPB ได้เข้าควบคุมตัวนายอิลมาร์ส ริมเซวิคส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางลัตเวีย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนายริมเซวิคส์มีความผิดในข้อหาเรียกรับสินบนเป็นเงินสูงกว่า 100,000 ยูโร

อย่างไรก็ดี นายสตรอมยืนยันว่าการจับกุมตัวนายริมเซวิคส์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐกล่าวหาว่า ธนาคาร ABLV ของลัตเวียได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือแต่อย่างใด

--รัฐบาลเวเนซุเอลาเตรียมเปิดให้นักลงทุนเข้าจองซื้อ (พรีเซล) "petro" ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของเวเนซุเอลา ในวันนี้ โดยหวังว่ารายได้จากการขายสกุลเงินดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ

นายนิโคลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะออกสกุลเงิน "petro" เป็นจำนวน 100 ล้านเหรียญ หรือ 100 ล้านโทเคน โดยแต่ละโทเคนจะมีมูลค่าและได้รับการหนุนหลังจากน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจำนวน 1 บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินการออกสกุลเงิน "petro" มีมูลค่ารวมมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัท eToro มองว่า การที่ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา อาจจะปูทางให้ผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ เช่น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ดำเนินการเช่นเดียวกัน

--นายวิทาลิค บูเตริน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายบล็อกเชนอีเธอเรียม กล่าวเตือนว่า สกุลเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ซึ่งมีความผันผวนอย่างมาก และอาจจะทรุดตัวลงใกล้ศูนย์ได้ตลอดเวลา

นายบูเตรินระบุว่า นักลงทุนอย่าได้ทุ่มเงินลงทุนมากกว่าที่จะสามารถรับการขาดทุนได้

--บิตคอยน์ยังคงเคลื่อนไหวเหนือระดับ 11,000 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากพุ่งทะลุระดับดังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ CoinDesk ระบุว่า บิตคอยน์แตะที่ระดับ 11,436 ดอลลาร์ ณ เวลา 8.38 น. วันนี้ ตามเวลาไทย

ขณะนี้บิตคอยน์พุ่งขึ้นกว่า 80% จากระดับ 5,947.40 ดอลลาร์ที่ทำไว้ในวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งขณะนั้น นักลงทุนพากันเทขายบิตคอยน์ เนื่องจากมีความวิตกเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะคุมเข้มการซื้อขายบิตคอยน์ รวมทั้งถูกกระทบจากข่าวการปั่นราคาบิตคอยน์ในตลาด และการที่แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ ก่อนที่จะโจรกรรมสกุลเงินดิจิทัลเป็นจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกก็ได้ประกาศห้ามลูกค้าใช้บัตรเครดิตของธนาคารรูดซื้อบิตคอยน์

--นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่เปิดเผยในวันนี้ โดยเยอรมนีจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค. และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนก.พ.จาก ZEW ขณะที่อียูจะเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.พ.

ส่วนในวันพรุ่งนี้ นักลงทุนพุ่งความสนใจไปที่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าจับตาอื่นๆ โดยมาร์กิตจะรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้น และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนก.พ.ของฝรั่งเศส เยอรมนี อียู และสหรัฐ ขณะที่อังกฤษจะเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนธ.ค. และสหรัฐจะเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ