ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งกว่า 1% ทะลุ 1,150 ดอลล์ หลังดอลล์อ่อน,คาดเฟดชะลอขึ้นดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 21:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 1% ในวันนี้ ทะลุแนว 1,150 ดอลลาร์ จากปัจจัยดอลลาร์ที่อ่อนค่า และคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ณ เวลา 21.09 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ดีดตัวขึ้น 11.90 ดอลลาร์ หรือ 1.04% สู่ระดับ 1,153.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าในวันนี้ หลังดิ่งลงอย่างหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ จากการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

ณ เวลา 19.05 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.22% สู่ระดับ 117.61 เยน ขณะที่ร่วงลง 0.74% สู่ระดับ 1.1178 เทียบยูโร ขณะที่ยูโรดีดตัวขึ้น 0.42% สู่ระดับ 131.44 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.54% สู่ระดับ 96.766

ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นในการซื้อขายช่วงแรก หลังดิ่งลงแตะ 117.06 เยนเมื่อคืนนี้ที่ตลาดนิวยอร์ก

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ได้ปรับตัวลงในเวลาต่อมา ต่ำกว่าระดับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งได้พุ่งขึ้นจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

ดอลลาร์ถูกกดดันตั้งแต่เมื่อวานนี้ หลังจากที่นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า สภาวะทางการเงินมีการตึงตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. และเฟดจะต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. หากภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป

นายดัดลีย์ยังระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของดอลลาร์ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

คำกล่าวของนายดัดลีย์เป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. หลังจากมีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว

ในการประชุมในเดือนที่แล้ว คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะผันผวนในตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ขณะที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2006

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกระทบจากการเปิดเผยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ภาคบริการของสหรัฐได้ชะลอตัวลงในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 53.5 ในเดือนม.ค. ลดลงจากระดับ 55.8 ในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ยังต่ำกว่าระดับ 55.1 ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ