ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวลงต่อเนื่องจากวานนี้ เหตุดอลล์แข็ง,อุปสงค์จีนชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 15, 2017 22:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และสัญญาณบ่งชี้อุปสงค์ที่ชะลอตัวของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ณ เวลา 21.44 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 33 เซนต์ หรือ 0.69% สู่ระดับ 47.26 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนในช่วงต้นเดือนนี้ แต่หลังจากนั้นก็ได้ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ที่ดิ่งลงกว่า 2%

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นสู่กรอบกลางของ 110 เยนในวันนี้ โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่นักลงทุนขานรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และคลายความกังวลต่อความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

ณ เวลา 21.20 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.88% สู่ระดับ 110.57 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.28% สู่ระดับ 129.47 เยน และร่วงลง 0.66% สู่ระดับ 1.1700 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.66% สู่ระดับ 94.02

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า กำลังการกลั่นน้ำมันของจีนอยู่ที่ระดับ 10.71 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ค. ลดลงราว 500,000 บาร์เรล/วันจากระดับในเดือนมิ.ย. และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2016

นักวิเคราะห์ระบุว่า กำลังการกลั่นน้ำมันของจีนลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจำนวนมากในจีน จะทำให้จีนลดความต้องการน้ำมัน

ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งระบุว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 แท่น สู่ระดับ 768 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์

นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ให้ความร่วมมือต่ำในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน จะทำให้การปรับสมดุลในตลาดใช้เวลานานขึ้น แม้อุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

IEA ระบุว่า ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกลดลงสู่ระดับ 75% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. โดยประเทศที่ให้ความร่วมมือต่ำได้แก่ อัลจีเรีย อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ลิเบีย ซึ่งได้รับการยกเว้นจากการปรับลดกำลังการผลิต ก็ได้เพิ่มการผลิตอย่างมาก

ขณะเดียวกัน IEA ยังคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก นำโดยสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ