ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวในช่วงแคบ ท่ามกลางปัจจัยบวก-ลบในตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2018 00:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวแคบในวันนี้ ท่ามกลางปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่เข้ามาในตลาด

ณ เวลา 23.41 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 7 เซนต์ หรือ 0.10% สู่ระดับ 67.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นกว่า 6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงเกือบ 2 เท่าจากที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล

EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ร่วงลง 3.9 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ซึ่งได้พุ่งขึ้น 25% นับตั้งแต่กลางปี 2559 สู่ระดับ 10.62 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้สหรัฐเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ซึ่งผลิตน้ำมันเกือบ 11 ล้านบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีเวลาจนถึงวันที่ 12 พ.ค.ในการตัดสินใจว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ชาติมหาอำนาจทำไว้กับอิหร่านหรือไม่ โดยข้อตกลงฉบับนี้เกิดจากลงนามในปี 2558 ระหว่างอิหร่าน และกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ในขณะที่อิหร่านจะต้องระงับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

แต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ปีที่แล้ว ปธน.ทรัมป์ประกาศไม่ให้การรับรองต่ออิหร่านในการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีการทำไว้ในปี 2558 โดยระบุว่า อิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และมีการละเมิดหลายครั้ง

หากปธน.ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ก็จะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาด และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ผลิตน้ำมัน 32 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำกว่าระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของโอเปก โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการผลิตที่ทรุดตัวลงในเวเนซุเอลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ