In Focusจับตาสถานการณ์วุ่นวายในยูเครนที่ยังไร้ซึ่งทางออก

ข่าวการเมือง Wednesday May 7, 2014 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากจะกล่าวถึงเหตุการณ์การเมืองที่ร้อนแรงที่สุดของโลกในขณะนี้ นอกจากสถานการณ์ในไทยแล้ว ก็คงเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก “วิกฤติในยูเครน" ที่ยังคงยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น หลังจากรัฐบาลยูเครนตัดสินใจกวาดล้างกลุ่มกบฏทางภาคตะวันออกของประเทศอย่างรุนแรง การปะทะกันอย่างดุเดือดในยูเครนก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดการเงินต่างๆที่ปรับตัวแรงกว่าปกติ หรือผลเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะเดียวกัน เราได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของประเทศต่างๆในการช่วยเหลือให้ยูเครนผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้โดยเร็วที่สุด

สถานการณ์ตึงเครียด

สถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนช่วงนี้เข้าสู่ภาวะตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลยูเครนเดินหน้าปราบปรามกลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซียทางตะวันออกของประเทศอย่างเต็มที่ จนส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุปะทะในเมืองท่าโอเดสซาทางตอนใต้ของยูเครนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 170 รายจากเหตุไฟไหม้ที่อาคารสำนักงานของสหภาพแรงงานการค้า

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ความรุนแรงในยูเครนกำลังลุกลามจากภาคตะวันออกมายังภาคใต้

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากที่ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในเมืองเสลิฟยานสค์ทางภาคตะวันออกของยูเครนจับตัวไปนานกว่าหนึ่งสัปดาห์

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของยูเครนเปิดเผยว่า เหตุปะทะในบริเวณตะวันออกส่งผลให้กองกำลังของรัฐบาลเสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ขณะที่มีการสังหารกลุ่มผู้ประท้วงไปราว 30 ราย โดยขณะนี้ กลุ่มกบฏได้ยึดอาคารสำนักงานมากกว่า 30 แห่ง รวมถึงสถานีตำรวจ และสำนักงานบริการด้านความมั่นคงในเมืองโดเนตสค์ และลูฮันสค์ทางตะวันออกของประเทศ ทั้งนี้ บริเวณตะวันออกของยูเครนประกอบด้วยประชากรที่พูดภาษารัสเซียเป็นจำนวนมาก และยังเป็นฐานเสียงที่สำคัญของอดีตประธานาธิบดีวิคตอร์ ยานูโควิช

อย่างไรก็ตาม หลายๆฝ่ายได้พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน นายจอห์น เคอร์รี่ และนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ และรัสเซียได้หารือกันทางโทรศัพท์ โดยนายลาฟรอฟต้องการให้สหรัฐกดดันยูเครนให้หยุดปฏิบัติการทางทหารซึ่งจะทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะเผชิญกับความขัดแย้งอันรุนแรง ขณะที่นายเคอร์รี่ได้เรียกร้องให้รัสเซียยุติการสนับสนุนกลุ่มผู้ฝักใฝ่รัสเซียในยูเครน นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองประเทศยังได้ปรึกษากันว่า อาจจะขอความร่วมมือจาก OSCE ให้เข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงนี้ด้วย

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้จัดการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้กำลังของรัฐบาลยูเครนในการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงทางตะวันออกของประเทศ โดยทูตของรัสเซียเตือนว่า หากปฏิบัติการทางทหารยังคงดำเนินต่อไป ยูเครนจะต้องประสบกับหายนะเป็นวงกว้าง ขณะที่ฝ่ายสหรัฐมองว่า การกระทำดังกล่าวอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการเดินหน้าเจรจาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป รวมถึงเรื่องที่นายดิดิเยร์ โบไคทาร์ ประธาน OSCE จะเดินทางเยือนรัสเซียเพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกัน

นอกจากนั้น นายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์เมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีก็ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหายูเครนรอบที่ 2 ที่นครเจนีวา หลังจากที่ก่อนหน้านี้อียู สหรัฐ รัสเซีย และยูเครนได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการลดสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนเมื่อวันที่ 17 เม.ย.

ลงโทษตัวการ

การผนวกเขตปกครองตนเองไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งพร้อมใจกันลงโทษรัสเซียด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อสถานการณ์ในยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้น รัสเซียก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการที่ยั่วยุให้วิกฤติการณ์บานปลาย และพยายามที่จะรุกรานพื้นที่ของยูเครนอย่างช้าๆ โดยการส่งกองกำลังทหารไปประชิดบริเวณชายแดนที่ติดกับยูเครนกว่า 40,000 นายก็เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า รัสเซียมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์กับยูเครน

ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบที่ 3 ต่อรัสเซีย โดยพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐบาล 7 ราย และบริษัท 17 แห่ง นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการขัดขวางการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมความมั่นคงของรัสเซียด้วย ขณะที่อียูได้ประกาศจำกัดการเดินทาง และยึดทรัพย์เจ้าหน้าที่รัสเซีย 15 ราย ซึ่งทำให้ชาวรัสเซียที่ถูกขึ้นบัญชีคว่ำบาตรมีจำนวนรวมเป็น 48 รายในขณะนี้

ส่วนประเทศฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็ร่วมวงคว่ำบาตรรัสเซียด้วยเช่นกัน โดยประกาศว่า จะไม่ออกวีซ่าให้ชาวรัสเซีย 23 รายเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังได้ถอนการเจรจากับรัสเซียเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุนและการสำรวจอวกาศเพื่อสันติภาพ เนื่องจากรัสเซียไม่ได้ออกมาดำเนินการใดๆเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน

อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้ออกมาวิจารณ์การคว่ำบาตรครั้งใหม่อย่างรุนแรงพร้อมประกาศกร้าวว่า จะตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเจ็บแสบ โดยรัสเซียมองว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งจะเห็นได้จากแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศรัสเซียที่ระบุว่า หากอียูหวังว่าจะทำให้สถานการณ์ในยูเครนมีเสถียรภาพด้วยวิธีนี้ ก็จะนับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศยูเครน และเป็นการยุยงโดยตรงให้กลุ่มนีโอนาซีในพื้นที่ดำเนินการตอบโต้และแก้แค้นพลเรือนอย่างผิดกฎหมายต่อไป

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ร่วมกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่า สหรัฐ และเยอรมนีเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรคว่ำบาตรต่อรัสเซียในวงกว้างขึ้น หากรัสเซียยังไม่หยุดสร้างความแตกแยกในยูเครน

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้นำสหรัฐ และนายกฯเยอรมนีเผยว่า มาตรการคว่ำบาตรไม่ใช่บทสรุปของการแก้ปัญหา โดยโอบามาระบุว่า ต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูตมากกว่า ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยุโรปบางรายวิตกกังวลว่า การคว่ำบาตรรัสเซียอาจก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม เพราะยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

นายโอลี่ เรห์น กรรมาธิการด้านกิจการเศรษฐกิจของอียูกล่าวว่า พลเมืองในสหภาพยุโรปที่มีเหตุผลควรจะต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในอนาคต เนื่องจากปัญหาด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยการคว่ำบาตรจะส่งผลเสียทั้งต่อชาวยุโรป และชาวรัสเซียทั้งสองฝ่าย ขณะนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของรัสเซียกำลังส่งผลกระทบต่อฟินแลนด์ และออสเตรีย ซึ่งต่อไปอาจจะลุกลามไปยังเยอรมนี โปแลนด์ และประเทศกลุ่มบอลติกด้วย

เศรษฐกิจยูเครน

ยูเครนเป็นประเทศที่มีเหมืองถ่านหินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรอบๆเมืองโดเนตสค์ทางด้านตะวันออก รวมถึงอุตสาหกรรมหนักที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการต่อเรือ เหล็กกล้า และอาวุธ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆขาดแคลนพลังงานเป็นจำนวนมาก ยูเครนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียสูง

ภาคเกษตรกรรมยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ยูเครนมีพื้นที่ๆสามารถเพาะปลูกได้มากกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป และยังเป็นผู้ผลิตธัญพืช และน้ำมันเมล็ดทานตะวันรายสำคัญอีกด้วย

ดูเหมือนว่า ภาคผลิตของยูเครนจะไม่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจได้เท่าใดนัก เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การคอร์รัปชั่น และการบริหารประเทศที่ผิดพลาดมาตั้งแต่สมัยโซเวียต โดยจะเห็นได้จากขนาดเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่เล็กกว่าโปแลนด์ถึง 2 เท่า ทั้งๆที่ในปี 2535 ยูเครนมีขนาดเศรษฐกิจพอๆกับโปแลนด์

จวบจนปัจจุบัน ยูเครนก็ยังคงเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชั่น และการกระทำผิดกฎหมายต่างๆตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน โดยในปี 2556 ยูเครนอยู่ในอันดับที่ 144 จาก 177 ประเทศ เมื่อพิจารณาจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

ขณะนี้ ยูเครนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไม่แพ้ปัญหาความไม่สงบในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งต้องการเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับใช้จ่ายในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือการติดหนี้บริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียอีก 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ค่าเงิน hryvnia ก็ร่วงลงเกือบ 1 ใน 5 ในเดือนก.พ. ขณะที่เงินทุนไหลออกก็สั่นคลอนเศรษฐกิจของประเทศที่พยายามฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีของยูเครนเตือนว่า เศรษฐกิจของยูเครนอาจหดตัวอย่างน้อย 3% ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ และอาจมากถึง 10% หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติ

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้อนุมัติให้เงินช่วยเหลือยูเครนเป็นจำนวน 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ยูเครนจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับขึ้นภาษี ราคาพลังงาน ตลอดจนระงับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเมื่อรวมกับผู้ให้เงินสนับสนุนรายอื่นๆ ยูเครนจะได้รับเงินทั้งสิ้น 3.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของยูเครน

ยูเครนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟที่พ่วงมากับเงินกู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มขึ้นอีก 50% จากราคาเดิมเพียง 1 ใน 4 ของราคาก๊าซนำเข้า รวมถึงการปลดพนักงานราชการออก 10% และการวางแผนปราบปรามปัญหาคอร์รัปชั่น และกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจจะกำลังตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง หากการปฏิรูปทั้งหลายบีบคั้นประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ประท้วงออกมาโค่นล้มรัฐบาลอีกครั้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในยูเครนยังไม่คลี่คลาย หลายๆประเทศก็พยายามที่จะช่วยฉุดยูเครนออกมาจากฝันร้ายไม่ว่าจะให้เงินสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ความพยายามในการจัดการเจรจาแก้ปัญหา หรือการลงโทษผู้ร้ายอย่างรัสเซีย เราคงทำได้แค่เพียงส่งกำลังใจให้ทุกอย่างคลี่คลายลงด้วยดี ตลอดจนให้ยูเครนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ได้สำเร็จในวันที่ 25 พ.ค. นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ