Commentary: จีนออกโรงแจงคำวิจารณ์ตั้ง AIIB ชี้เจตนาดี-เปิดโอกาสทุกประเทศ

ข่าวการเมือง Thursday April 2, 2015 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข้อกล่าวหาต่างๆที่มีต่อความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของจีนในการผนวกความร่วมมือทางเศรษฐกิจนั้น ห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการดำเนินการครั้งล่าสุดของจีนนี้ เต็มไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดีและเปิดโอกาสให้กับนานาประเทศ

แม้ว่าความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของจีนมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมือแบบที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันกับประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่วายมีผู้เปรียบเปรยว่า โครงการ "Belt and Road" ของจีนเป็นแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) หรือแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป และเปรียบว่า การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ของจีนนั้น เป็นการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจโลกแบบ Bretton Woods ในแบบของจีนเอง

การอุปมาอุปไมยเช่นนี้ ถือว่าไร้ซึ่งข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง และยังดึงเอาประวัติศาสตร์มาอ้างอิงด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง

ประเด็นแรกนั้น โครงการ "Belt and Road" แตกต่างไปจากแผนการมาร์แชลที่มีการเมืองเป็นตัวกำกับและยังมีส่วนทำให้เกิดสงครามเย็นขึ้น โครงการของจีนไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองเพื่อที่จะเร่งให้เกิดการเผชิญหน้าแต่อย่างใด

โครงการของจีนถูกขับเคลื่อนจากการตระหนักรู้ที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศขึ้นมา และความเชื่อที่ว่า การช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์กับจีนเช่นกัน

เช่นเดียวกับที่หวาง ยี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนเคยกล่าวไว้ว่า โครงการ AIIB ไม่ใช่โครงการของจีนเพียงประเทศเดียว หากแต่เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายร่วมกัน

การที่จะผลักดันโครงการ AIIB ให้ก้าวหน้า จีนจะต้องดำเนินการตามหลักการ ด้วยการปรึกษาหารือกันในวงกว้าง รวมทั้งการมีส่วนร่วม และแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งจีนเองก็ได้ให้คำมั่นไว้แล้วว่า จะดูแลให้มีการหารืออย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเคารพในทางเลือกของประเทศต่างๆ

ประการต่อมา แผนการจัดตั้ง AIIB นั้น ธนาคารแห่งนี้มีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนเสริมธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และสถาบันการเงินอื่นๆที่มีอยู่เดิม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันการเงินเหล่านี้มีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องช่องว่างที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการระดมทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในเอเชีย โดย ADB ได้กำหนดเพดานไว้ที่ประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2553-2563 ในขณะที่ AIIB ต้องการที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้

อันที่จริงแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก และ ADB ต่างก็ขานรับ AIIB และองค์กรเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะร่วมมือกัน

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์การเงินระดับสากลแบบใหม่ในปัจจุบันจึงไม่สามารถจะนำมาเปรียบเทียบได้กับระบบ Bretton Woods ได้

การใช้ระบบ Bretton Woods ทำให้สหรัฐสามารถเพิ่มอิทธิพลเหนือประเทศพันธมิตรที่ไม่สามารถแข่งขันกับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐได้ ภายหลังจากที่ประเทศเหล่านี้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่จีนไม่ได้มีจุดยืนเช่นนั้น และไม่มีความตั้งใจที่จะมีอำนาจเหนือใครในระบบการเงินโลก

AIIB และโครงการ "Belt and Road" จึงเป็นความเคลื่อนไหวของจีนที่จะดึงทุกฝ่ายให้มาร่วมมือและสื่อสารในระดับพหุภาคี บนพื้นฐานของเงื่อนไขที่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ไม่ว่า ข้อกล่าวหาต่างๆนานาอันไร้ซึ่งข้อเท็จจริง จะมีเจตนาที่แท้จริงเช่นไร ข้อกล่าวหาเหล่านี้มีแต่จะนำมาซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจซึ่งกันและกัน และยังบั่นทอนความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ด้วย

บทวิเคราะห์โดย หวัง ชาง รายงานโดยสำนักข่าวซินหัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ