Analysis: เหล่านักวิเคราะห์กังขาบทบาทอียูในการเจรจา Brexit หลังอังกฤษยื่นจดหมายประกาศใช้มาตรา 50

ข่าวการเมือง Thursday March 30, 2017 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จดหมายฉบับประวัติศาสตร์เพื่อแสดงความจำนงในการประกาศใช้มาตรา 50 ที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษได้ยื่นต่อนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น เป็นการเริ่มต้นของการนับถอยหลังระยะเวลา 2 ปีแห่งกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรืออียู (Brexit) หลังจากที่อังกฤษได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลานานถึง 44 ปี ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาในขณะนี้ว่า อียูจะทำให้เส้นทางในการเจรจาถอนตัวของสหราชอาณาจักรที่กำลังจะขึ้นนั้นเป็นเรื่องง่ายหรือไม่

การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียูทำให้เกิดช่องว่างอย่างใหญ่หลวงขึ้นในสหภาพยุโรป และยังเป็นการสูญเสียประเทศเศรษฐกิจที่ขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก รวมทั้งแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ และสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไปแล้วด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คณะมนตรียุโรปได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาที่ซับซ้อนและอาจจะเป็นไปด้วยความเผ็ดร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปแบบพื้นฐานสำหรับการเจรจาของนายมิเชล บาร์นิเย หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจา Brexit ของอียู ระบุว่าประเทศสมาชิกอียูต่างเสียใจกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักร แต่ก็อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับกระบวนการนี้

นอกจากนี้แถลงการณ์ยังได้ระบุถึงแนวทางในเรื่องดังกล่าวว่า "จะมีการกำหนดจุดยืนและหลักการโดยรวมในแง่ของสหภาพยุโรป โดยตัวแทนของคณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้เจรจากับสหราชอาณาจักร"

ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแนวทางในการเจรจาของนายบาร์นิเยร์นั้น จะกำหนดขอบเขตการเจรจาที่เกี่ยวกับข้อตกลงในการถอนตัว โดยไม่นับรวมเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคตกับสหราชอาณาจักร

นายบาร์นิเยร์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมาธิการยุโรปชาวฝรั่งเศส ได้ออกมาเตือนเมื่อสัปดาห์ผ่านมาถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป หากการเจรจาเรื่องการถอนตัวล้มเหลวโดยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

นายบาร์นิเยร์ กล่าวว่า ประชากรของยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกว่า 4 ล้านคน และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศอังกฤษ จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคตของตนเอง พร้อมเสริมต่อไปว่า เขาไม่คิดว่าการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษจะมีขึ้นจนกว่าจะถึงช่วงกลางไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม และข้อตกลงในการถอนตัวเรื่องใดๆ ก็ตามจะไม่มีผลบังคับใช้ได้หากยังไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภายุโรป โดยคาดว่าสมาชิกของรัฐสภายุโรป (MEPs) จะมีมติกำหนดเส้นตายของตัวเองขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ด้านนายแอชลีย์ ฟอกซ์ แกนนำสมาชิกฝ่ายอนุรักษ์นิยมของรัฐสภายุโรป กล่าวว่า "ผมรู้สึกถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่านในหมู่สมาชิกอียู ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความต้องการให้มีการจัดการกับข้อตกลงที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยอมรับว่าเราจะเป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันต่อไปภายหลัง Brexit เสร็จสิ้นลงแล้ว"

ขณะที่นายอัมจาด บาซีร์ สมาชิกฝ่ายอนุรักษ์นิยมของรัฐสภายุโรป ซึ่งเห็นด้วยกับ Brexit กล่าวว่า "ตอนนี้เราควรมุ่งความสนใจไปที่งานสำคัญ ซึ่งก็คือความพยายามในการให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่ดีที่สุดให้กับสหราชอาณาจักรเมื่อออกจากอียูไปแล้ว รวมถึงภารกิจเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าในอนาคตกับประเทศต่างๆทั่วโลก

นายแอนดรูว์ ดัฟฟ์ อดีตสมาชิกฝ่ายเสรีนิยมของรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป ได้ออกมาแนะนำถึงแนวทางในการเจรจาสำหรับหน่วยงานต่างๆของทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป โดยเขากล่าวถึงเป้าหมายที่มีร่วมกันนี้ว่า เป็นการสร้างความมั่นใจว่า Brexit จะเกิดขึ้นตามแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ และเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมสำหรับรูปแบบการรวมกลุ่มที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ Brexit ในระยะยาว และเตรียมความพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและสหราชอาณาจักร

นายดัฟฟ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศูนย์นโยบายสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า "การเจรจา Brexit ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการแยกกันของทั้งสองฝ่ายจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากมากไปกว่าที่เป็นอยู่" โฆษกของสมาพันธ์ธุรกิจยุโรป (BusinessEurope) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 40 รายจาก 34 ประเทศในยุโรป ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยย้ำว่า "การตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรได้ทำให้เกิดปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลให้การถอนตัวของอังกฤษเป็นไปอย่างมีระเบียบและสร้างสรรค์'

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ยอมรับกำหนดระยะเวลาสำหรับกระบวนการถอนตัวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นไปที่ข้อตกลงทางการค้าเป็นสำคัญ และหากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้ก่อน ข้อตกลงในแง่ของการค้าก็จะเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งถูกมองว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายน้อยมาก

มาร์ติน แบงก์ส สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ