ผู้อำนวยการ WHO เผยยังไม่สามารถยุติการระบาดของอีโบลาได้โดยเร็ว

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 21, 2014 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกจะยุติลงในเร็วๆนี้ ซึ่งไวรัสดังกล่าวคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 1,300 คนแล้วนับตั้งแต่เดือนมี.ค.

นางชานระบุในบทความของวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ว่า "ไม่มีใครระบุถึงการยุติลงโดยเร็วของแพร่ระบาดดังกล่าว ประชาคมโลกจะต้องเตรียมพร้อมอีกหลายเดือน สำหรับการช่วยเหลือครั้งใหญ่ที่เป็นการประสานงานกันและกำหนดเป้าหมายไว้"

ผู้อำนวยการ WHO ยังกล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้การระบาดของอีโบลาครั้งนี้กระจายในวงกว้าง มีความรุนแรงมาก และยากต่อการควบคุม คือความยากจน

"ประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์รา ลีโอน เป็นกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก" นางชานกล่าวต่อว่า "ประเทศเหล่านี้เพิ่งผ่านพ้นความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานหลายปี ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขถูกทำลายในวงกว้าง หรือไม่สามารถใช้การได้ในบางพื้นที่ และทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษา"

นางชานเสริมว่า ในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีแพทย์เพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้นที่ดูแลรักษาประชาชนทุกๆ 100,000 คน และกลุ่มแพทย์จะเน้นที่การปฏิบัติหน้าที่ในเขตเมือง และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คือบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 160 คนติดเชื้อ และจำนวนมากกว่า 80 คนเสียชีวิต นอกจากนี้ แผนกกักโรคและความสามารถของโรงพยาบาลในการควบคุมการติดเชื้อ "แทบจะไม่มีเลย"

การระบาดของอีโบลาที่เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีของประวัติการเกิดโรค มีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากภาวะการว่างงานสูง ซึ่งบีบให้ประชาชนข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำ และส่งผลให้ "บริเวณจุดตัดพรมแดนของทั้ง 3 ประเทศ กลายเป็นเขตวิกฤตในตอนนี้ซึ่งการแพร่เชื้อในพื้นที่มีความรุนแรงมาก"

ผอ.WHO เสริมว่า ความกลัวยังคงเป็นอุปสรรคซึ่งเอาชนะได้ยากที่สุด "ประชาชนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อต่างหลบเลี่ยงระบบการเฝ้าระวัง บรรดาญาติซ่อนตัวสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการของโรค หรือพาไปรักษาด้วยวิธีการทั่วไป และผู้ป่วยหนีออกมาจากศูนย์การดูแลรักษา"

นอกจากนี้ นางชานยังเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงวิธีจัดการกับศพผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีการสัมผัสกับศพดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยกล่าวว่า "เป็นหนึ่งในความสำคัญเร่งด่วนอันดับแรก" ในประเทศกินี 60% ของกรณีการติดเชื้ออีโบลามีความเชื่อมโยงกับพิธีศพแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้ ยังมีข่าวลือเกี่ยวกับปาฏิหาริย์การรักษาอีโบลา โดยชาวไนจีเรียอย่างน้อย 2 คน เสียชีวิตหลังดื่มน้ำเกลือ ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถป้องกันโรคได้

ขณะที่สถานการณ์ยังคงเลวร้ายลงในกลุ่มประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก การรับมือต่อการระบาดของอีโบลาจากทั่วโลกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นางชานเผยว่ากรอบการดำเนินงานสำหรับการรับมือที่มีการยกระดับขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ บุคลากรด้านโลจิสติกส์ หรือผู้จัดการสถานการณ์ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้อำนวยการ WHO ปิดท้ายว่า "ความจำเป็นที่ต้องจัดการมีมากมาย แต่โอกาสในการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วมีน้อย อย่างไรก็ดี ประสบการณ์บอกเราว่า การระบาดของอีโบลาสามารถควบคุมได้ แม้ว่าจะปราศจากวัคซีนหรือวิธีการรักษาก็ตาม" สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ