UNHCR เผยผู้อพยพโรฮิงญา 800,000 คนในบังกลาเทศตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

ข่าวต่างประเทศ Friday November 3, 2017 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา นายกรันดีได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวที่บริเวณด้านนอกห้องประชุม UNSC ว่า "ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ลี้ภัยอีก 65-66 ล้านคนทั่วโลก เราได้อภิปรายกันเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนที่สุดในแอฟริกา โดยเฉพาะในซูดานใต้และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก"

นายกรันดีกล่าวว่า "ที่ประชุมยังเน้นถึงสถานการณ์ในบังกลาเทศ ที่ซึ่งชาวโรฮิงญาได้อพยพลี้ภัยมาจากเมียนมา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติซึ่งอาจจะเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้"

ด้านองค์กรสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ในบรรดาผู้อพยพทั้ง 800,000 คนนั้น มี 607,000 คนที่หลบหนีความรุนแรงมาจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงที่ชาวโรฮิงญาได้ลุกฮือขึ้นโจมตีสถานีตำรวจ ด่านรักษาความมั่นคง และฐานทัพทหาร ส่งผลให้ทางการเมียนเข้ามาทำการตอบโต้ จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ซึ่งมีทั้งการเผาหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านต้องเร่งหลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอด

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ปัญหาสำหรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาก็คือ "ความปลอดภัยและศักดิ์ศรีในการเดินทางกลับบ้าน" ซึ่งที่ประชุม UNSC เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาก็ถือเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งประเด็นในเรื่องนโยบายและการดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ