In Focus"อู ถิ่น จอ" นอมินี "ซูจี" คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีเมียนมาร์ตามคาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 16, 2016 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานกว่า 50 ปี ต่อด้วยรัฐบาลกึ่งพลเรือนอีก 5 ปี ในที่สุดเมียนมาร์ก็ได้ประธานาธิบดีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษเสียที

*กว่าจะมาเป็นประธานาธิบดี

ก่อนจะกล่าวถึงผู้นำคนใหม่ของเมียนมาร์ เรามาดูขั้นตอนการเลือกประธานาธิบดีกันก่อน โดยในกระบวนการให้ได้มาซึ่งประธานาธิบดีนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎร (หรือสภาล่าง) สภาชาติพันธุ์ (หรือสภาสูง) และกองทัพ จะส่งตัวแทนมาฝ่ายละ 1 คน จากนั้นตัวแทนทั้ง 3 คนจะต้องมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกัน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากรัฐสภาจะได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนอีก 2 คนจะได้เป็นรองประธานาธิบดี

ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้เสนอชื่อ “อู ถิ่น จอ" คนสนิทของนางออง ซาน ซูจี ขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ได้เสนอชื่อ “สาย หมอก คำ" รองประธานาธิบดีเมียนมาร์ และผลก็ออกมาตามคาดคือ นายอู ถิ่น จอ ชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย 274 ต่อ 29 เสียง ได้เป็นตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎรในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ส่วนในสภาชาติพันธุ์ พรรค NLD ได้เสนอชื่อ “เฮนรี่ วาน เธียว" ผู้มีเชื้อสายชนกลุ่มน้อยรัฐชินและเป็นส.ส.ของพรรค ส่วนพรรค USDP เสนอชื่อ “ขิ่น อ่อง มินท์" อดีตประธานสภาชาติพันธุ์ ซึ่งก็ไม่พลิกโผเช่นกัน โดยนายเฮนรี่ วาน เธียว เอาชนะไปด้วยคะแนน 148 ต่อ 14 เสียง ได้เป็นตัวแทนของสภาชาติพันธุ์เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ในส่วนของกองทัพนั้น ได้มีการเสนอชื่อ “อู มินท์ ส่วย" ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งมุขมนตรีนครย่างกุ้ง ลงชิงชัยในครั้งนี้

เมื่อพิจารณาจากที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งพรรค NLD ครองอยู่ 390 ที่นั่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 59.36% ส่วนพรรค USDP มี 41 ที่นั่ง หรือ 6.24% ขณะที่พรรคอื่นๆมี 60 ที่นั่ง หรือ 9.132% ส่วนกองทัพมี 166 ที่นั่ง หรือ 25.26% ก็ไม่แปลกที่เมื่อวานนี้ รัฐสภาเมียนมาร์จะเลือกนายอู ถิ่น จอ จากพรรค NLD ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ส่วนนายอู มินท์ ส่วย ตัวแทนจากกองทัพ ได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีลำดับที่ 1 และนายเฮนรี่ วาน เธียว ได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีลำดับที่ 2

*หุ่นเชิด

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นางออง ซาน ซูจี ไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 59 (f) ห้ามผู้มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี ซึ่งสามีของนางซูจีเป็นชาวอังกฤษและลูกๆของเธอก็ถือสัญชาติอังกฤษด้วย

อันที่จริงนางซูจีได้พยายามเจรจากับทางทหารหลายครั้งเพื่อเปิดทางให้เธอสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ไม่เป็นผล นางซูจีจึงทำตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะ "อยู่เหนือประธานาธิบดี" ด้วยการหานอมินีมารับตำแหน่งประธานาธิบดี และผู้ที่มารับบท “หุ่นเชิด" ก็คือนายอู ถิ่น จอ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดนางซูจีและมีความผูกพันกับพรรค NLD อย่างยิ่ง

อู ถิ่น จอ วัย 69 ปี เป็นบุตรชายของมิน ธู วุน นักเขียนและกวีแห่งชาติซึ่งเป็นอดีตส.ส.พรรค NLD ขณะเดียวกันเขายังเป็นบุตรเขยของนายอู ลวิน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD ส่วนนางซู ซู ลวิน ภรรยาของเขา ก็เป็น ส.ส.ของพรรคเช่นกัน นอกจากนี้ นายอู ถิ่น จอ ยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิดอว์ขิ่นจี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่มารดาของนางซูจีด้วย

ในด้านการศึกษานั้น นายอู ถิ่น จอ เป็นรุ่นน้องของนางซูจีที่โรงเรียน Methodist English High School ในย่างกุ้ง เขาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโทที่ Yangon Institute of Economics โดยสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถิติ พร้อมกันนั้นก็ได้เป็นอาจารย์สอนในสถาบันแห่งนี้ ก่อนจะผันตัวไปเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับศูนย์คอมพิวเตอร์ของทางมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อที่ Institute of Computer Science, University of London

ด้านการทำงาน นายอู ถิ่น จอ เคยทำงานประจำอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก่อนจะลาออกจากภาครัฐและเดินเคียงข้างนางซูจีบนเส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว

กล่าวกันว่า อู ถิ่น จอ เป็นคนพูดน้อย มีความซื่อสัตย์ และไม่ชอบทำตัวโดดเด่น ในภาพถ่ายจะเห็นได้ว่าเขายืนเคียงข้างนางซูจีอยู่เสมอ และยังขับรถให้นางซูจีเป็นครั้งคราวด้วย

ชัยชนะของนางออง ซาน ซูจี นายอู ถิ่น จอ และพรรค NLD ในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีอะไรอีกมากมายรออยู่เบื้องหน้า ผู้นำคนใหม่จะบริหารประเทศอย่างไรในเมื่อกองทัพยังคงควบคุมกระทรวงสำคัญอย่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงภายใน และกระทรวงกิจการชายแดน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงต่างๆ ก็ล้วนเป็นคนที่กองทัพเคยแต่งตั้งมาแล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้ แม้ว่าจะเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่นางซูจีไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ จึงก็น่าเป็นห่วงว่าจะทำตามความคาดหวังของชาวเมียนมาร์ได้หรือไม่

การเมืองเมียนมาร์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร คงต้องตามลุ้นกันอีกยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ