In Focus“โอบามา" เดินหน้าจับมือ “ราอูล คาสโตร" พลิกโฉมความสัมพันธ์คิวบา ก่อนอำลาตำแหน่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 23, 2016 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเดินทางเยือนคิวบาของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกขนานนามจากแทบจะทุกสื่อว่าเป็นการเดินทางเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการเยือนคิวบาของผู้นำสหรัฐคนแรกในรอบ 88 ปี แม้ว่า 2 ประเทศไม้เบื่อไม้เบาคู่นี้มีทำเลที่ตั้งจะอยู่ใกล้ชิดกัน แต่ระยะทางก็แทบจะไม่สามารถเยียวยาความสัมพันธ์ของคู่ปฏิปักษ์ได้ เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับบทเพลงหนึ่งมิตรชิดใกล้ของอัสนีและวสันต์เลยทีเดียว

บารัค โอบามา พร้อมด้วยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และคณะได้เดินทางเยือนคิวบาเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-22 มี.ค. โอบามาได้เข้าพบกับประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร แห่งคิวบา ทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อหารือในประเด็นต่างๆร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ผู้นำของคิวบาและสหรัฐยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องคุกกวนตานาโมของสหรัฐซึ่งตั้งอยู่ที่อ่าวกวนตานาโม ตลอดจนเหล่านักโทษทางการเมืองของคิวบา แต่สิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องว่า จะต้องดำเนินการในที่สุดก็คือเรื่องการยกเลิกมาตรการสั่งห้ามการนำเข้าและส่งออกสินค้าคิวบา

6 ประเด็นร้อนของคู่ไม้เบื่อไม้เมา

สื่อต่างประเทศได้สรุป 6 ประเด็นร้อนที่จะต้องหาทางคลี่คลาย เพื่อที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและคิวบาจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ และหากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถแก้ไข 6 ประเด็นเหล่านี้ได้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกมากกว่าที่จะคืนดีกันอย่างแท้จริง

มาตรการการห้ามนำเข้าและส่งออก

โอบามาเองก็ไม่สามารถพูดได้ชัดเจนหรือเต็มปากในขณะนี้ว่า จะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าและส่งออกสินค้าคิวบาได้เมื่อไร แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ อีกทั้งยังย้ำด้วยว่า มาตรการที่ได้ใช้กันมานานถึง 50 ปีนี้ ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับทั้งสหรัฐและชาวคิวบา และชี้แจงว่า ที่ผ่านมา คณะทำงานของตนเองได้ดำเนินการในเรื่องการยกเลิกข้อจำกัดด้านการค้าแล้ว แต่ขั้นตอนต่อไปนี้ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรส ซึ่งคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐ

ผู้นำสหรัฐกล่าวด้วยว่า การที่ทางสหรัฐจะผ่อนปรนมาตรการสั่งห้ามต่างๆนั้น ขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของฝั่งคิวบาในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน

สิทธิมนุษยชน

สำหรับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น โอบามามองว่า ไม่ใช่แค่คิวบาเท่านั้นที่สหรัฐไม่ลงรอยในเรื่องนี้ แต่สหรัฐเองก็ยังไม่ลงรอยในประเด็นเดียวกันกับจีนและเวียดนาม

โดยการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างโอบามาและคาสโตรนั้น เมื่อการซักถามเดินมาถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและคุกกวนตานาโม บรรยากาศก็ตึงเครียดและคุกรุ่นขึ้นมาทันที ผู้นำคิวบา ซึ่งปกติสามารถรับมือกับคำถามเชิงรุกจากผู้สื่อข่าวได้ถึงกับต้องกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า เรื่องนี้ควรจะพอได้แล้ว ประธานาธิบดีคาสโตร ได้แสดงจุดยืนในการปกป้องประเทศประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ สหรัฐยืนกรานให้คิวบาปรับปรุงในเรื่องสิทธิมนุษยชน และยุติการกักขังนักโทษทางการเมือง แต่คิวบาก็มีมุมมองที่แตกต่าง

ฐานทัพของสหรัฐที่อ่าวกวนตานาโม

ที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการทารุณนักโทษที่คุกกวนตานาโมเป็นเรื่องราวที่ผ่านหูผ่านตากันมามาก ทั้งในเรื่องวิธีการทรมานนักโทษหรือการสอบปากคำที่โหดร้าย ตลอดจนการกระทำตามอำเภอใจกับการจับกุมตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้ายเข้ามากักขังไว้ ด้วยเหตุนี้ ประเด็นร้อนเช่นนี้จึงยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะคลี่คลายลงได้

สหรัฐได้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดทางให้ชาวคิวบาได้รับสิทธิในการเป็นพลเรือนแบบถาวรในสหรัฐ ซึ่งคิวบามองว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นซากจากสงครามเย็น และได้ขอให้สหรัฐยกเลิกกฎหมายดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากชาวคิวบาจำนวนมากต้องเสียชีวิตไปกลางทะเลในระหว่างที่เดินทางอพยพไปยังสหรัฐ รวมทั้งจากการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้คิวบาเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนนโยบายที่สหรัฐนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อจัดการกับประเทศที่เป็นปฏิปักษ์

สื่อมวลชน

ราอูล คาสโตร ได้ออกโรงวิจารณ์สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของสหรัฐรายหนึ่งอย่างรุนแรง โดยชี้ว่าสื่อรายนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยทางคิวบาได้กวนสัญญาณการกระจายเสียงแต่ทางเรดิโอ มาร์ตี กลับยังเผยแพร่ข่าวให้กับชาวคิวบาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสหรัฐเองมองว่า การเผยแพร่ข่าวสารนี้ทำให้ชาวคิวบาได้เข้าถึงข้อมูล เนื่องจากทางการคิวบาควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คิวบาได้โจมตีจุดยืนของสหรัฐในการต่อต้านรัฐบาลเวเนซูเอลาว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศพันธมิตรรายหนึ่งของสหรัฐเอง ในขณะที่สหรัฐเองมองความสัมพันธ์ของคิวบากับประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น โบลิเวีย ว่าเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค

มุมมองผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างประเทศ

จูลิโอ เบนิเตซ ผู้สื่อข่าวชาวคิวบาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ตนเองไม่เคยคิดเลยว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะเดินทางเยือนคิวบา แต่ตนเองก็รู้สึกได้ว่า การมาเยือนของโอบามาเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากคิวบาสามารถบอกกล่าวถึงความต้องการและความคาดหวังให้กับสหรัฐได้อย่างชัดเจน

คราวนี้มาดูมุมมองจากสื่อจีนกันบ้าง จือ ตงหยาง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการติดต่อสื่อสารและความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่สหรัฐคงจะต้องเสนอสิ่งที่จะช่วยชดเชยกับการกระทำที่ผิดพลาดในอดีตอย่างเพียงพอแก่คิวบา

ทางด้านนายเฮนรี่ คิสซินเจอร์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ระบุไว้ในหนังสือชื่อ “Diplomacy" อย่างน่าสนใจว่า การมองตนเองว่าเป็นเสาหลักของโลกเสรี แต่ตัวเองกลับยัดเยียดความคิดเห็นของตนเองให้กับประเทศอื่นๆที่มีวัฒนธรรมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป และผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา ก็คงจะเห็นได้จากสงครามในตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลีที่เต็มไปด้วยนิวเคลียร์ และอื่นๆ

เฮเดลเบอร์โต โลเปซ นักวิเคราะห์ด้านการเมือง กล่าวให้สัมภาษณ์กับซินหัวเช่นกันว่า รัฐบาลสหรัฐตระหนักแล้วว่า การโดดเดี่ยวคิวบานั้นเป็นการคว้าน้ำเหลว และยังทำให้สหรัฐมีชื่อเสียงที่เป็นลบในสายตาประเทศต่างๆในภูมิภาคตามไปด้วย

“สิ่งที่สำคัญสำหรับทำเนียบขาวก็คือการผลักดันสภาคองเกรสให้ยกเลิกมาตรการต่อต้านทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ" โลเปซเผยมุมมอง

ย้อนอดีตความสัมพันธ์ระหว่างคู่ไม้เบื่อไม้เมา

ช่วงต้นทศวรรษที่ 60: ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศก็เข้าสู่ภาวะแช่แข็ง เมื่อสหรัฐได้สะบั้นความสัมพันธ์การทูต และประกาศใช้มาตรการสั่งห้ามการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากคิวบา ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

เดือนธันวาคม 2557: โอบามาได้ประกาศที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่ได้มีการเจรจาอย่างลับๆมาเป็นเวลาปีกว่าที่แคนาดาและสำนักวาติกัน อีกทั้งยังมีแผนการณ์ต่างๆที่จะเดินหน้าตั้งแต่การทบทวนเรื่องการตราหน้าคิวบาว่าเป็นประเทศผู้ให้การสนับสนุนก่อการร้าย, การผ่อนปรนคำสั่งห้ามการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับพลเรือนชาวสหรัฐ, การผ่อนปรนข้อกำหนดด้านการเงิน และเพิ่มการเชื่อมโยงด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม และการเดินหน้ายกเลิกมาตรการสั่งห้ามด้านการค้า

เดือนส.ค. 2558: สหรัฐได้กลับมาเปิดให้บริการสถานทูตสหรัฐที่กรุงฮาวาน่า หลังจากที่คิวบาได้เปิดทำการสถานทูตของคิวบาประจำสหรัฐก่อนหน้านั้น 1 เดือน

หลายฝ่ายมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์นี้ ท้ายที่สุดแล้ว จะไม่สามารถกระชับความสัมพันธ์ได้ หากสหรัฐยังไม่เลิกนิสัยยัดเยียดอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนเองให้กับประเทศต่างๆ และปฏิบัติกับนานาประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

แต่การปูทางเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบาครั้งนี้ แน่นอนว่า ผู้ที่จะมารับไม้ทำหน้าที่ผู้นำประเทศต่อจากโอบามาคงจะไม่มองข้าม และเมื่อนั้น อดีตไม้เบื่อไม้เมาก็น่าจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ