In Focusจับตาอนาคตยุโรป หลังภัยก่อการร้ายเปลี่ยนจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจเป็นสมรภูมิรบ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 30, 2016 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยุโรป ดินแดนที่เคยเป็นสวรรค์ของนักเดินทางและแหล่งขุดทองของนักเผชิญโชคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้กลับกลายเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในเวลานี้ ไล่เรียงตั้งแต่เหตุลอบวางระเบิดในกรุงออสโลว์และเหตุกราดยิงค่ายยุวชนบนเกาะอูโทยา ประเทศนอร์เวย์ เมื่อช่วงกลางปี 2554 มาจนถึงเหตุการณ์คนร้ายควงปืนกระหน่ำยิงสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีสเมื่อช่วงต้นปี 2558 และเหตุการณ์โจมตีรุนแรงกลางกรุงปารีสในช่วงปลายปี 2558 ... กระทั่งล่าสุดได้เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายก่อเหตุระเบิดพลีชีพกลางสนามบินในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เมืองอันเป็นฐานที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญๆระดับโลก

ย้อนไปเมื่อกลางปี 2554 ชาวโลกต้องตกใจกับการพาดหัวข่าวของสื่อนอร์เวย์ที่มีใจความว่า "Massacre in Paradise" หรือ การสังหารหมู่ในแดนสวรรค์ เมื่อผู้ก่อการร้ายได้ก่อเหตุลอบวางระเบิดในกรุงออสโลว์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 8 คน และตามมาติดๆด้วยเหตุการณ์คนร้ายโรคจิตนามว่า อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก วัย 32 ปี ได้กราดปืนกลยิงใส่เด็กวัยรุ่นในค่ายยุวชนบนเกาะอูโทยา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 68 คน ... เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ไปตลอดกาล จากดินแดนที่เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ว่าเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก กลับกลายเป็นเพียงตำนาน และยังทำให้ธรรมเนียมการมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ณ ดินแดนแห่งนี้ อาจหมดความขลังลงไปเช่นกัน

จากนั้นในเดือนม.ค.ปี 2558 ชาวฝรั่งเศสเพิ่งเคาท์ดาวน์ปีใหม่กันได้ไม่กี่วัน ก็พากันอกสั่นขวัญหายกับเหตุการณ์คนร้ายควงปืนกล AK-47 กราดยิงสำนักงานของนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีเนื้อหาแนวเสียดสีสังคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน ...และคล้อยหลังไปเพียงวันเดียว คนร้ายพร้อมอาวุธปืนอีกรายหนึ่งได้กราดยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเสียชีวิต พร้อมจับตัวประกันในซูเปอร์มาร์เก็ตโคเชอร์ของชาวยิว ทางตะวันออกของกรุงปารีส เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 4 คน และทั้งสองเหตุการณ์จบลงด้วยการที่คนร้ายถูกวิสามัญโดยกองกำลังความมั่นคงของฝรั่งเศส

ฝันร้ายของชาวปารีสยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อผู้ก่อการร้ายจงใจเลือกวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.ให้กลายเป็น "911 ของฝรั่งเศส" โดยกลุ่มชายติดอาวุธ 3 กลุ่มได้โจมตีหลายเป้าหมายในกรุงปารีส รวมถึงร้านอาหาร บาร์ สถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต และสนามกีฬา โดยใช้ยุทธวิธีต่างๆร่วมกัน ทั้งการกราดยิง ระเบิดฆ่าตัวตาย และจับผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 130 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน จุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ โรงละครบาตาคล็อง (Bataclan Theatre) ในขณะที่กำลังมีการแสดงคอนเสิร์ตของวงร็อคแนวเฮฟวี่เมทัลจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา คือ วง Eagles of Death Metal และจุดที่เสียหายรองลงมาคือสนามกีฬาสตาด เดอ ฟรองซ์ (Stade de France) ซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสและทีมชาติเยอรมนี และผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมชมการแข่งขันในนัดนี้ด้วย

... กระทั่งล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 22 มี.ค.2559 เหตุการณ์นองเลือดได้ย้อนกลับมากระหน่ำยุโรปอีกครั้ง เมื่อผู้ก่อการร้ายจุดระเบิดพลีชีพกลางสนามบินซาเวนเทม ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม และในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้ก่อการร้ายอีกกลุ่มหนึ่งได้ลอบวางระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งสถานีรถไฟใต้ดินแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสถาบันต่างๆที่สำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ทั้งสองเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 คน และสร้างรอยแผลในใจให้กับครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายอย่างยากที่จะลืมเลือน

  • จากดินแดนที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและเรืองรองด้วยอารยธรรมอันงดงาม กลับกลายเป็นสมรภูมิรบ

ยุโรป ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ทั้งในด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจการเงิน ภาคการผลิต ธุรกิจแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหารเลิศรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันของนักเดินทางที่ต้องการมาเยี่ยมชมอารยธรรมเก่าแก่ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของโลก อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่ทัศนียภาพอันงดงาม ... แต่ยุโรปในวันนี้ ได้พลิกผันไปอย่างน่าใจหาย นับตั้งแต่รากฐานทางเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มถูกกัดกร่อนด้วยวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2551 และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นคืนชีพได้เหมือนกับยุคทองของการเฟื่องฟู แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามใช้ยาแรงด้วยการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0% และเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรในโครงการ QE มูลค่ามหาศาล แต่เศรษฐกิจยุโรปก็ยังไม่มีวี่แววที่จะกระเตื้องขึ้นจนถึงระดับที่น่าพอใจ แถมยังหมิ่นเหม่ที่จะถูกพิษเงินฝืดเล่นงานเข้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ยุโรปยังต้องปวดหัวกับปัญหาผู้อพยพที่พากันหนีตายจากดินแดนบ้านเกิด เพื่อเข้ามาตั้งต้นชีวิตใหม่ในยุโรป โดยชาวต่างชาติที่ลี้ภัยเข้ามามากที่สุดคือชาวซีเรีย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเมินว่า ตัวเลขโดยเฉลี่ยของผู้อพยพทางเรือเพื่อขอลี้ภัยในยุโรปในปีที่แล้วอยู่ที่ 400,000 ราย และคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 450,000 ราย ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้วก็ถือว่าสูงมาก เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะซีเรียนั้นยังคงเกิดสงครามยืดเยื้อไม่สิ้นสุด และยังไม่รวมถึงผู้อพยพหนีความยากจนจากประเทศอื่นๆ

เท่านั้นยังไม่พอ ชาวยุโรป โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่ม 28 ชาติสมาชิก EU นั้น ต่างก็หวาดผวากับข่าวอังกฤษมีแผนที่จะออกจากการเป็นสมาชิก EU ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่า อังกฤษต้องการผลักหัวเรือออกจากฝั่ง และลอยลำสู่ความรุ่งเรืองแต่เพียงลำพัง โดยไม่ต้องมีภาระผูกพันทางเศรษฐกิจกับประเทศ EU อีกต่อไป แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่อย่าง S&P และมูดี้ส์ได้ออกมาเตือนว่าจะหั่นอันดับเครดิตอังกฤษ หากยังดึงดันที่จะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองเป็นมุมเดียวกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจและภัยก่อการร้ายที่ไม่มีใครคาดคะเนได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ทำให้ยุโรปในวันนี้ ไม่เหมือนยุโรปเมื่อวันวานอีกต่อไป การโจมตีเมืองหลวงการท่องเที่ยวของโลกอย่างกรุงปารีส จะกระหน่ำยุโรปให้อ่อนแอลงอีก ทั้งๆที่เศรษฐกิจในดินแดนแห่งนี้ยังไม่ฟื้นไข้ดีจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ มองว่า เหตุการณ์ก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีล่าสุดในบรัสเซลส์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การบริโภค และการท่องเที่ยวของยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านธนาคารไอเอ็นจี ประเมินว่า การโจมตีครั้งล่าสุดนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านยูโร เฉพาะในเบลเยียม ขณะที่ซีเอ็มซี มาร์เก็ต สิงคโปร์ มองว่า การโจมตีที่กรุงบรัสเซลส์และการก่อการร้ายอื่นๆ เมื่อประดังเข้ากับปัญหาผู้อพยพที่ตึงเครียดในปัจจุบัน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ และยังอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะยาวอีกด้วย

... และข้อมูลล่าสุดที่น่าตกใจก็คือ สำนักงานตำรวจ Europol แห่งสหภาพยุโรป ได้ออกรายงานเตือนว่า กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) กำลังวางแผนก่อการร้ายครั้งใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายที่ยุโรปเป็นหลัก โดยกลุ่ม IS ได้คิดค้นรูปแบบการโจมตีขึ้นใหม่ ซึ่งสามารถเปิดการโจมตีขนานใหญ่ในระดับโลก โดยมียุโรปเป็นจุดหมายสำคัญ"

รายงานของ Europol ยังระบุด้วยว่า ประเทศสมาชิกยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส อาจเผชิญกับการก่อการร้ายอีก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสังหารพลเมืองเป็นจำนวนมาก โดย Europol ระบุว่าภัยคุกคามจากกลุ่ม IS ถือเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่ยุโรปเคยเผชิญในรอบกว่า 10 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ