In Focusจับตาบทบาทใหม่แห่งอิสตรี ชิงเก้าอี้เลขาธิการสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 27, 2016 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา" และครั้งนี้ก็ถึงคราวของนายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบันที่ใกล้จะครบวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในช่วงสิ้นปีนี้ ตามธรรมเนียมก็จะต้องมีการคัดเลือกและพิจารณาผู้ที่จะเข้ามารับช่วงต่อเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งเป็นไปอย่างราบรื่น

การคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งเลขาฯยูเอ็น เป็นประเด็นน่าสนใจสำหรับประชาคมโลกอยู่เสมอ แต่ในปีนี้เป็นที่น่าจับตามองมากกว่าทุกครั้ง เนื่องจากมีข่าวลือหนาหูว่า ตัวเก็งของผู้เข้าชิงตำแหน่งเป็น "เพศหญิง" ที่อาจจะเข้ามาฉีกประวัติศาสตร์ การครองบัลลังก์ยูเอ็นของผู้นำที่เป็นผู้ชายมาเป็นเวลานานถึง 70 ปี รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกผู้เข้าชิงที่แตกต่างและโปร่งใสกว่าเดิม

จากจำนวนผู้สมัครทั้ง 8 คน ได้มีการประกาศชื่อผู้เข้าชิงหลัก 2 รายที่เป็นผู้หญิงแล้ว ได้แก่ นางเฮเลน คลาร์ก หัวหน้าโครงการพัฒนายูเอ็น และอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และ นางอิรินา บูโกวา ผู้อำนวยการองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO)

อดีตนายกฯนิวซีแลนด์ประกาศลงสมัครสานต่อตำแหน่งนายบัน คี-มูน

ขณะที่มีกระแสผลักดันให้องค์การสหประชาชาติมีผู้นำหญิงเป็นคนแรก นางเฮเลน คลาร์ก หัวหน้าโครงการพัฒนายูเอ็น และอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ประกาศเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติต่อจากนายบัน คี-มูน พร้อมกล่าวว่าจะนำเอาประสบการณ์การเป็นผู้นำนิวซีแลนด์มาใช้ในตำแหน่งดังกล่าวในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งวิกฤติผู้อพยพ ความขัดแย้งระหว่างพรมแดน และประเด็นด้านสันติภาพและความมั่นคงอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ประกาศทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเดินหน้าสนับสนุนนางเฮเลนอย่างเต็มที่

บัลแกเรียเสนอชื่อนางโบโกวาเข้าชิงตำแหน่งเลขาฯยูเอ็น

ตัวเก็งอีกหนึ่งคนในศึกชิงตำแหน่งครั้งนี้คือ นางอิรินา บูโกวา ตัวแทนจากฝั่งยุโรปตะวันออก ภูมิภาคเดียวที่ไม่เคยมีผู้แทนเข้ารับตำแหน่งเลขาฯยูเอ็นเลยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้อำนวยการยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2552 เธอเป็นผู้นำในการปฏิรูปองค์กร ผลักดันคุณภาพการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งบุคคลากรคุณภาพที่นักวิชาการหลายรายเห็นว่าเหมาะสมกับตำแหน่งเลขาธิการองค์กรระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ในศึกชิงบัลลังก์สำคัญของสหประชาชาติครั้งนี้ นอกจากฝ่ายหญิงแล้วยังมีตัวเก็งฝ่ายชายอีก 2 ราย ได้แก่ นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส และ นายสาร์ดจัน เคอริม

อีกหนึ่งตัวเก็งสำคัญผู้คร่ำหวอดในภาคการพัฒนาสังคม

นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส ผู้เปี่ยมไปด้วยความคิดอันชาญฉลาดและสายตากว้างไกลในทุกภาคส่วนของสังคม การันตีด้วยตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส อดีตข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และอดีตประธานกลุ่มสังคมนิยมนานาชาติ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส เขาเป็นผู้นำในการขยายเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ปรับเพิ่มเงินสวัสดิการเพื่อประชาชน และริเริ่มโครงการความปลอดภัยทางสังคมมากมาย ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลากรที่มีผลงานด้านสังคมและเศรษฐกิจนานับประการ

นักเศรษฐศาสตร์และนักการทูตระดับพระกาฬจากมาซีโดเนีย

ดร.สาร์ดจัน เคอริม เป็นอีกหนึ่งผู้เข้าชิงที่มีผลงานโดดเด่นและเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาซีโดเนีย เอกอัคราชทูตมาซีโดเนียประจำประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 62 และตำแหน่งด้านการทูตอีกมากมาย ดร.สาร์ดจัน เป็นตัวเก็งอีกคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม เพราะนอกจากจะเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในด้านการทูตแล้ว เขายังมีประสบการณ์สูงในงานด้านวิชาการ ธุรกิจและเศรษฐกิจ ด้วยตำแหน่งอดีตประธานสมาคมเศรษฐกิจมาซีโดเนีย-เยอรมัน ตลอดจนตำแหน่งประธานและผู้จัดการทั่วไปประจำบริษัทหลายแห่งในมาซีโดเนีย

การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นนั้นสำคัญและน่าจับตามองอย่างไร?

ตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นนั้นเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งในเวทีโลก เพราะนิยามของตำแหน่งดังกล่าวมิได้จำกัดเพียงแค่โฆษกและผู้นำองค์การเท่านั้น แต่ยังมีข้อบัญญัติว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาฯยูเอ็นจะสามารถยกประเด็นใดๆที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและสันติภาพของนานาประเทศยื่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น เพื่อพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขต่อไป ทำให้ตำแหน่งเลขาฯ ยูเอ็นมีขอบเขตกว้างขวางและเป็นบุคคลสำคัญในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รักษาสันติภาพ และหาข้อยุติให้กับปัญหาระดับนานาชาติ นักวิชาการจึงตั้งสมมติฐานว่า หากเลขาฯคนต่อไปเป็นเพศหญิง ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศจะถูกหยิบยกขึ้นมา ตลอดจนสนับสนุนความเท่าเทียมของผู้หญิงและทำลายระบบการเป็นใหญ่ของเพศชาย

พลิกกระบวนการคัดเลือก ผลักดันความเสมอภาคและความโปร่งใส

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการองค์การสหประชาชาติถูกปกปิดเป็นความลับ ไม่มีใครล่วงรู้ข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้งจนกว่าจะมีการประกาศชื่อผู้ชนะ เพราะมีเพียงหัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย สมาชิกถาวรใน UNSC เท่านั้นที่เป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะได้ครองตำแหน่ง ผิดไปจากปีนี้ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการคัดเลือกให้มีความโปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในทุกภาคส่วน ด้วยการเปิดเผยประวัติและวิสัยทัศน์การทำงานของผู้สมัคร พร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศมีส่วนร่วมในการพิจารณาและสัมภาษณ์ผู้เข้าชิงตำแหน่งทั้งหมดในประชุม UNGA เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ขั้นตอนการคัดเลือกถือเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง หากผู้สมัครไม่มีภาวะผู้นำหรือขาดวิสัยทัศน์ ก็อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก

ขั้นตอนการคัดเลือกได้เปิดฉากขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้ และคาดว่า จะมีการลงมติในเดือนกันยายน ซึ่งเลขาธิการคนใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนมกราคม 2560

เป็นที่น่าจับตามองว่า ผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อจากนายบัน คี-มูน จะเป็นใครในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความวุ่นวายและวิกฤติการณ์ด้านต่างๆ และหากผู้ที่มารับตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้หญิงตามการคาดการณ์ของแหล่งข่าวหลายสำนักก็ช่างเป็นเรื่องน่ายินดีที่สตรีเพศจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ