In Focusเหตุกราดยิงออร์แลนโด อีกหนึ่งบททดสอบ “คลินตัน" vs “ทรัมป์" ใครจะมาวินชนะใจชาวอเมริกัน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 15, 2016 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงล่าสุดที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่าง ฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียงขับเคี่ยวชิงคะแนนจากชาวอเมริกัน ในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายก่อนรู้ผลว่าใครที่จะได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์กราดยิงไนต์คลับกลุ่มรักร่วมเพศในเมืองออร์แลนโด ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 49 คน และบาดเจ็บอีก 53 ราย ทำให้เหตุสังหารหมู่ครั้งนี้กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ และเป็นเหตุก่อการร้ายที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ 9/11 เมื่อปี 2544

รายงานข่าวระบุว่า โอมาร์ มาทีน มือปืนผู้ก่อเหตุได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เรียกได้ว่าอำมหิตที่สุดแห่งยุค ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายในปารีสที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว

โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ศึกเลือกตั้งสหรัฐใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายเข้าไปทุกขณะ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้จะมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งสหรัฐ โดยคาดว่าการก่อการร้ายและการควบคุมอาวุธปืน รวมไปถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ จะเข้ายึดพื้นที่หาเสียงในช่วงเวลาต่อจากนี้ ก่อนที่ชาวอเมริกันจะเข้าคูหาหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกผู้นำคนใหม่ปลายปีนี้

เหตุกราดยิงในออร์แลนโดกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืนมากขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญทำนองนี้ ขณะที่อีกฝ่ายก็เรียกร้องให้มีการดำเนินการปราบปรามลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งมากขึ้น ถึงแม้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ออกมาแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ไม่พบหลักฐานว่าคนร้ายมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับบรรดากลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ตามข้อมูลจากสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ ที่ระบุว่า มาทีนถูกกระตุ้นให้กลายเป็นคนหัวรุนแรง จากการเสพโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ทางออนไลน์

กฎหมายควบคุมอาวุธปืน เมื่อกระแสสังคม-การเมืองสวนทาง และยังไม่มีทางออก

โอมาร์ มาทีน เป็นชาวฟลอริดา จากเมืองพอร์ต เซนต์ ลูซี เขาได้ใช้ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ AR-15 และปืนพกในการก่อเหตุครั้งนี้ โดยรายงานระบุว่าเขาซื้อปืนทั้งสองกระบอกมาอย่างถูกกฎหมาย

เหตุกราดยิงครั้งใหญ่นี้ได้จุดกระแสเรียกร้องเรื่องการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืนให้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากที่มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ซึ่งรวมถึงเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุกเมื่อปี 2555 จนเป็นเหตุให้มีเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสาเสียชีวิตถึง 20 ราย โดยเด็กๆเหล่านี้มีอายุเพียง 6-7 ขวบ นับเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่สงสัยกันว่าเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาวุธปืนซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปีได้หรือไม่

"ฉันเชื่อในเรื่องการควบคุมอาวุธปืน ฉันไม่คิดว่าทุกคนจำเป็นต้องมีปืนอัตโนมัติ" คิม ดีเลลลิส ชาวออร์แลนโดกล่าว โดยเธอเป็นผู้หนึ่งที่มีปืนพกเก็บไว้อยู่ที่บ้าน

อิมาน มูฮัมหมัด มัสรี ผู้นำอิสลามในออร์แลนโดกล่าวว่า “ประเทศของเราต้องพิจารณาทบทวนกฎหมายอาวุธปืนที่เปิดช่องให้เหตุการณ์สังหารหมู่ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า"

รัฐธรรมนูญของสหรัฐระบุว่า ประชาชนพึงมีสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งชาวอเมริกันหลายล้านคนก็เชื่อว่านี่เป็นสิทธิที่ล่วงละเมิดมิได้ โดยมีข้อมูลว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีปืนมากกว่า 300 ล้านกระบอกในประเทศ

ฝ่ายสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืนชี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่า เหตุใด โอมาร์ มาทีน จึงสามารถซื้อปืนโดยถูกกฎหมาย ทั้งที่เขามีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของตำรวจว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย และไม่พอใจอย่างมากต่อข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มสนับสนุนอาวุธปืน ซึ่งนำโดยสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในสภาคองเกรส ได้ขัดขวางความพยายามในการผ่านกฎหมายควบคุมอาวุธปืน โดย NRA ทุ่มเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ไปกับการล็อบบี้เรื่องนี้ในสภาฯ

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนยืนกรานว่า การมีปืนในครอบครองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืนนั้นสามารถควบคุมได้ หากผู้ถือปืนปฏิบัติตามกฎหมาย

จูเลียน ซีไลเซอร์ ศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์และกิจการสาธารณะ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวกับซินหัวว่า เหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านๆมาไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาวุธปืน และดูเหมือนว่าเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ก็ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์แตกต่างไปจากเดิมนัก

ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดสภาคองเกรสสหรัฐจึงไม่ผ่านกฎหมายให้มีการควบคุมอาวุธปืนมากขึ้น เขากล่าวว่า ฝ่ายคัดค้านการควบคุมอาวุธปืนนั้นมีการจัดตั้งเป็นอย่างดี และได้รับการหนุนหลังจากทั้งสองพรรคการเมือง

ดาร์เรล เวสต์ รองประธานและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการบริหารกิจการบ้านเมืองของสถาบันบรูกกิงส์ แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า

"สหรัฐอเมริกายังคงแตกแยกกันในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และ NRA จะยังคงขัดขวางความพยายามใดๆก็ตามที่จะทำให้กฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา" เวสต์กล่าวกับซินหัว

ประเด็นร้อนล่าสุดในสมรภูมิเลือกตั้ง

ท่ามกลางกระแสร้อนแรงและความรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นทั่วประเทศ จึงหนีไม่พ้นที่ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียง ทั้งการก่อการร้าย และการควบคุมอาวุธปืน

ในการกล่าวปราศรัยหาเสียงเมื่อวันจันทร์ ว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปราบปรามการก่อการร้าย พร้อมกับเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการควบคุมอาวุธปืนมากขึ้น

นางฮิลลารี คลินตัน ระบุว่า แม้จะยังมีการถกเถียงกันอยู่มากถึงเรื่องนี้ แต่ก็มีบางจุดที่ทั้งสองฟากการเมืองเห็นพ้องกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ประเด็นที่ว่าเหตุใดผู้ที่มีประวัติน่าสงสัยอย่างมาทีนจึงสามารถซื้ออาวุธปืนได้

แต่ถึงกระนั้น นางคลินตันแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างความระมัดระวังตามแบบฉบับ โดยเธอระบุว่า ถึงแม้มือปืนได้สวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส แต่เหตุจูงใจนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

“มีหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้ ซึ่งรวมถึงเหตุจูงใจที่ผลักดันให้เขาลงมือสังหาร" เธอกล่าว

ข้างฝ่าย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกันสบช่องจากเหตุการณ์กราดยิงที่ออร์แลนโด โดยฉวยโอกาสโจมตีโอบามาและคลินตันว่าทำให้ประเทศไม่ปลอดภัย ด้วยการพยายามริดรอนสิทธิของพลเมืองผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอาวุธปืน ขณะที่ยังคงอ้าแขนรับชาวมุสลิมให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น

มหาเศรษฐีจอมคุยโวแสดงความเห็นจัดเต็มตามสไตล์ของตนในการหาเสียงที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ โดยประกาศกร้าวว่าจะรื้อระบบตรวจคนเข้าเมืองในปัจจุบัน ซึ่งเขามองว่าล้มเหลวและฉุดรั้งไม่ให้สหรัฐปกป้องพลเรือนได้อย่างเต็มที่ โดยเขาจะไม่ปล่อยให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีหลักฐานว่าเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย เข้าสหรัฐอเมริกาได้

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้กล่าวถึงประเด็นอาวุธปืน โดยระบุว่า “ความถูกต้องทางการเมือง" เป็นตัวการขัดขวางสหรัฐไม่ให้ตอบโต้อย่างเด็ดขาดและฉับไว เขายังได้ตอกกลับกลุ่มที่เชื่อว่า กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดจะทำให้ชาวอเมริกันปลอดภัยขึ้น โดยกล่าวอ้างถึงฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสก็มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังเกิดเหตุก่อการร้ายที่ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว

ทรัมป์ยังเสริมด้วยว่า การควบคุมอาวุธปืนมากขึ้นนั้นเท่ากับเป็นการทำให้ชาวอเมริกันที่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่มีอาวุธป้องกันตัวและตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย โดยทรัมป์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก NRA ยืนยันว่า เขาจะยังคงสนับสนุน NRA ต่อไป

ถ้อยแถลงของทรัมป์สามารถเรียกเรตติ้งจากฐานเสียงเดิมของตนเองได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกถ้าเขาจะถูกสับเละจากกลุ่มผู้สนับสนุนนางคลินตัน

ดาร์เรล เวสต์ จากสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับทรัมป์ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำคำเตือนของเขาเกี่ยวกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง

"เหตุโจมตีล่าสุดนี้เป็นการสนับสนุนคำเตือนของทรัมป์ที่ว่า โลกเป็นสถานที่ที่อันตราย และอเมริกาจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งผู้ซึ่งสามารถกอบกู้สถานการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายให้กลับมาเป็นระเบียบเรียบร้อยได้"

"เหตุการณ์นี้ทำให้ความสนใจของชาวอเมริกันหันกลับไปที่การก่อการร้ายอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับทรัมป์" เวสต์กล่าว

แต่จูเลียน ซีไลเซอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มองเรื่องนี้ต่างออกไป โดยเขาคิดว่า ทรัมป์อาจไม่สามารถช่วงชิงคะแนนนิยมจากเหตุการณ์นี้

"ผมไม่คิดเช่นนั้น มันอาจช่วยในแง่ของการเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากข่าวคราวเชิงลบเกี่ยวกับเขา แต่มันทำให้เกิดคำถามว่า คุณไว้ใจมอบอำนาจให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ยามที่ประเทศเกิดวิกฤตจริงๆหรือ ผมเชื่อว่าชาวอเมริกันจำนวนมากยังไม่เชื่อมั่นในจุดนี้"

หลอมรวมใจเป็นหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความขัดแย้งบนสมรภูมิการเมืองอันร้อนระอุ และความโศกาอาดูรที่ปกคลุมไปทั่วสหรัฐ เราก็ยังพบเห็นเรื่องดีๆ ได้จากเหตุการณ์นี้ ผู้คนหลายพันคนได้มาชุมนุมกันในย่านดาวน์ทาวน์ของออร์แลนโด เพื่อร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต และอธิษฐานให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยบางคนจุดเทียน บางคนถือป้ายแสดงข้อความให้กำลังใจ บ้างก็วางดอกไม้และเขียนข้อความบนทางเดินด้วยสีเทียน

“เข้มแข็งไว้ออร์แลนโด"

“เราอยู่กับคุณ"

"คืนนี้ เมืองของเรายังอยู่ในความเจ็บปวด เราโศกเศร้า เราโกรธแค้น" บัดดี้ ดายเออร์ นายกเทศมนตรีเมืองออร์แลนโดกล่าวในระหว่างพิธีไว้อาลัย “แต่เราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ เพราะในยามมืดมิดที่สุด ชาวเมืองของเราได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือแสงสว่าง"

คิม ดีเลลลิส ชาวเมืองออร์แลนโดกล่าวว่าเธอไม่รู้จักผู้เสียชีวิตคนใดคนหนึ่งเป็นการส่วนตัว แต่เธอคิดว่าเธอต้องทำอะไรบ้าง

"มันไม่เกี่ยวกับว่า คุณรู้จักพวกเขาหรือไม่ มนุษย์เราต้องรู้จักมอบความรัก"

และแม้เหตุการณ์นี้อาจสร้างความบาดหมาง แต่ชาวมุสลิมหลายคนก็มาร่วมในพิธีไว้อาลัยนี้ด้วย

"เขาอาจเป็นเพียงชายคลั่งคนหนึ่ง คุณไม่ควรเหมารวมกล่าวโทษทั้งศาสนา" มารี ริเวรา ชาวออร์แลนโดที่มาร่วมไว้อาลัยกล่าว

ในช่วงหนึ่งของพิธีไว้อาลัย ได้มีการประกาศให้ผู้ที่มาร่วมพิธีกอดคนที่อยู่ข้างๆ ซึ่งทำให้เกิดภาพที่น่าประทับใจ เมื่อผู้ที่มาร่วมงานต่างโอบกอดคนข้างๆด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า โดยไม่สนว่าเขาหรือเธอจะนับถือศาสนาใด

"ฉันเห็นชาวมุสลิมสองคนในคืนนี้ ฉันเข้าไปกอดพวกเธอและขอบคุณที่พวกเธอแสดงความกล้าหาญด้วยการมาร่วมกันที่นี่ในคืนนี้" ไอลีน ซิโมโน อาสาสมัครผู้คอยแจกน้ำให้ผู้มาร่วมงานกล่าว

เช่นเดียวกับ อามานี ชาลาลี ผู้อพยพจากอียิปต์ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในย่านชานเมืองของออร์แลนโด ที่ได้เดินทางมาร่วมพิธี “เพื่อให้กำลังใจผู้สูญเสีย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะไม่ทนกับความเกลียดชังเช่นนี้"

ขณะที่พนักงานคนหนึ่งของไนต์คลับที่เกิดเหตุ กล่าวว่า "เราจะไม่ไปไหน เราจะอยู่ที่นี่ และเราจะใหญ่ขึ้นและดีขึ้นกว่าที่คุณจะจินตนาการได้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ