In Focusแฉเบื้องหลัง ปธน.เกาหลีใต้ยกขโยงคนสนิทฉ้อโกง ประชาชนแดนโสมลุกฮือต่อต้าน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 23, 2016 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลก เมื่อผู้นำประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียอย่าง "นางปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้" เข้าไปพัวพันกับคดีอื้อฉาวของคนสนิทและอดีตผู้ช่วยหลายราย ทำให้ตัวเธอต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่ วันนี้ In Focus จึงจะรวบรวมเบื้องลึกเบื้องหลังและลำดับเหตุการณ์มหากาพย์การฉ้อโกงที่เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเกาหลีใต้มาให้ผู้อ่านได้ติดตามกัน

*ความนิยมดิ่งฮวบเหตุไม่สื่อสารกับประชาชน

ประเด็นอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นด้วยความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของกลุ่มคนสนิท ซึ่งมีประชาชนที่ไม่พอใจในการบริหารงานของเธอมากกว่า 64% ส่งผลให้คะแนนนิยมที่มีต่อพรรคแซนูริของเธอพลอยร่วงลงตามไปด้วย โดยคะแนนความนิยมของนางปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ลดลงตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จนแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2556 ด้วยสาเหตุที่ว่า เธอไม่ยอมสื่อสารกับประชาชน

*ต้นตอความฉาวเริ่มผุด

หลังจากนั้นไม่นาน เรื่องก็เริ่มปูดขึ้นมาว่า “นางชเว ซูน ซิล" วัย 60 ปี ผู้ช่วยคนสนิทของประธานาธิบดีปาร์คที่ไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาล ถูกกล่าวหาว่า ระดมทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้หลายแห่งให้กับมูลนิธิ 2 แห่งของตนเอง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้ออกมาเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของมูลนิธิดังกล่าวนั้นก็มาจากเงินทุนที่ทางรัฐบาลไปบีบบังคับให้บริษัทหลายแห่งบริจาคเงินหลายหมื่นล้านวอนเพื่อนำมาก่อตั้งมูลนิธิ มาถึงตรงนี้ คะแนนนิยมของนางปาร์คก็ยิ่งทรุดหนักเหลือเพียง 17% ขณะที่จำนวนผู้ที่ไม่ยอมรับในผลงานของเธอเพิ่มขึ้นถึง 74% ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เธอต้องออกมาโค้งคำนับและกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่คนสนิทของเธอใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวแทรกแซงการดำเนินกิจการภายในประเทศ อาทิ การเข้าถึงข้อมูลลับของรัฐบาลโดยอ้างจากไฟล์ในแท็บเล็ตที่ใช้ในสำนักงานของนางปาร์ค

*“ปาร์ค" สั่งปรับโครงสร้างสำนักเลขาธิการประธานาธิบดี หวังเอาใจประชาชน

เพียง 2 วันหลังจากที่ออกมาขอโทษ นางปาร์ค กึน เฮ ได้ประกาศปรับโครงสร้างสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีบางส่วน เพื่อบรรเทากระแสความไม่พอใจของประชาขน โดยแต่งตั้ง ชเว ไจ คยอง อดีตอัยการ เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาวุโสด้านกิจการพลเรือน และแต่งตั้ง แบ ซอง รเย อดีตโฆษกรัฐสภา ทำหน้าที่หัวหน้าเลขาธิการด้านกิจการสาธารณะ ขณะที่ทีมงานบางส่วนยื่นเรื่องลาออกจากตำแหน่ง แต่กระนั้น ประชาชนในเกาหลีใต้ก็คิดว่าการกระทำดังกล่าวยังไม่เพียงพอและเรียกร้องให้นางปาร์คลาออกจากตำแหน่ง เพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเธอไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

*ผู้ร่วมขบวนการโผล่อีก

หลังจากที่นางชเว ซูน ซิล ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในระหว่างการสอบปากคำโดยอัยการ อัยการต้องรีบจับกุมตัวเธอในทันที เนื่องจากเกรงว่า เธอจะทำลายหลักฐานและหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งเธอถูกตั้งข้อกล่าวหาในหลายกระทง ตั้งแต่การเลือกเสื้อผ้าให้กับนางปาร์ค แทรกแซงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโส ไปจนถึงการแก้ไขสุนทรพจน์ และให้คำแนะนำเรื่องนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกัน มีรายงานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทั้งตัวปธน.และคนสนิทมีส่วนทำให้การจัดงานกีฬาโอลิมปิกล่าช้าออกไป เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการทำธุรกิจกับบริษัทต่างชาติด้านโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ คณะอัยการได้ออกหมายจับ “นายอัน จอง-บอม" อดีตเลขานุการฝ่ายการประสานนโยบายของนางปาร์ค ในข้อหาขู่กรรโชกเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ หลังพบว่าเขาเป็นผู้ประสานงานด้านนโยบายที่เปิดช่องว่างให้นางชเว กดดันบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ อาทิ ซัมซุง และ ฮุนได บริจาคเงินหลายหมื่นล้านวอนให้กับมูลนิธิ Mir และ K-Sports ที่นางชเวเป็นผู้ดูแล จากนั้นไม่นาน ได้มีการจับกุมตัวอดีตเลขาธิการประธานาธิบดี 2 ราย ได้แก่ “นายจอง โฮ ซอง" ข้อหานำเอกสารลับด้านกลาโหม การทูต และกิจการทางเศรษฐกิจมอบให้แก่นางชเว และ “นายลี แจ-มาน" ข้อหาสมรู้ร่วมคิด

แม้แต่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ฮุนได มอเตอร์" และบริษัทอุปกรณ์ไอทีชื่อดังอย่าง “ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์" ก็หนีไม่พ้นต้องโดนสอบสวนเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ทั้ง 2 บริษัทมีเอี่ยวในคดีอื้อฉาวดังกล่าวและแอบมอบเงินใต้โต๊ะให้แก่นางชเว

*กระแสความไม่พอใจทวีความรุนแรง

เมื่อมีการเปิดเผยเบื้องหลังของกระบวนการฉ้อโกงที่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรระดับอาวุโสของประเทศหลายราย กระแสความไม่พอใจของประชาชนก็ยิ่งทวีความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ เยาวชน นักศึกษา ผู้ยากจน ผู้พิการ เกษตรกร นักวิชาการ และสหภาพแรงงาน หลายแสนคนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นางปาร์ค กึน เฮ ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้มีการถอดถอนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่นางปาร์คแต่งตั้งขึ้นโดยไม่สอบถามความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ และเรียกร้องให้เธอยอมรับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามที่รัฐสภาได้เสนอมา เพื่อการแต่งตั้งที่เป็นกลาง

*สถานการณ์ปัจจุบัน

แม้ว่า ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆจะอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากที่กลุ่มประชาชนราว 1 ล้านคนจากทั่วประเทศได้ออกมาประท้วงนางปาร์คอีกครั้ง เพื่อขับไล่เธอให้ลงจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่อัยการของเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาแถลงข่าวผลการสอบสวนว่า ประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ ของเกาหลีใต้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับผู้ใกล้ชิดอดีตผู้ช่วยหลายรายอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่สามารถนำตัวนางปาร์คมาดำเนินคดีได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะได้รับสิทธิ์คุ้มครองจากข้อกล่าวหาตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำรงตำแหน่ง เว้นแต่ว่าการสืบสวนสอบสวนจะระบุไว้ให้รอดำเนินคดีหลังพ้นตำแหน่งแล้ว ซึ่งนางปาร์คยังเหลือระยะเวลาทั้งสิ้นอีก 15 เดือน และจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนก.พ. 2561

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คดีดังกล่าวยังดำเนินมาไม่ถึงบทสรุป เนื่องจากนางปาร์คยังคงปฏิเสธที่จะให้อัยการดำเนินการไต่สวนแบบตัวต่อตัว แต่จะยอมรับการไต่สวนจากคณะสภาที่เป็นอิสระ ซึ่งหากร่างกฎหมายสภาอิสระได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมครม. เจ้าหน้าที่อัยการจะดำเนินการไต่สวนเธอในช่วงต้นเดือนธันวาคม

คดีอื้อฉาวครั้งนี้คงกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของนักการเมืองทั้งในเกาหลีใต้และประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งสุดท้ายแล้วเราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ประชาชนจะเกรี้ยวกราดลุกมาประท้วงอีกครั้งหรือไม่ และมหากาพย์การฉ้อโกงครั้งนี้จะปิดฉากลงอย่างไร...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ