In Focusย้อนรอยข่าวเด่นวงการไอที-โซเชียลมีเดียในรอบปี 2559

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 7, 2016 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2559 ถือเป็นปีที่ อัลกอริทึม เครือข่าย กระจกและโลหะที่ใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบของเครื่องมือดิจิทัลได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราได้อย่างคาดไม่ถึง

และผลกระทบจากวงการไอที นับตั้งแต่ปัญหาข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กไปจนถึงการระเบิดของ Galaxy Note7 แม้ว่า ผลกระทบจะไม่ได้ออกมาดีเสมอไป แต่บางอย่างก็นำความหวังมาให้ เช่น โลกเสมือนจริงและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

และนี่ก็คือเรื่องราวในวงการเทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดในปี 2559 ที่เรารวบรวมมาให้

1. แจ็คหูฟังอาจจกลายเป็นอดีต

การเปิดตัวโทรศัพท์ iPhone รุ่นไหม่ประจำปีของแอปเปิลโดยปกติแล้วจะเป็นการนำเทรนด์ใหม่ๆมาสู่สาวกเสมอ แต่การเปิดตัว iPhone 7 ในปีนี้กลับกลายเป็นเรื่องช็อคโลกที่อาจจะสามารถสัมผัสได้ไปอีกหลายปี นั่นก็คือการตัดช่องเสียบหูฟังออกไปจากโทรศัพท์

ถึงแม้ว่าช่องเสียบแจ็คขนาด 3.5 มม. เกือบจะเป็นมาตรฐานสากลในอุปกรณ์ต่างๆทั่วโลก แต่มาตรฐานดังกล่าวก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อแอปเปิลตัดสินใจที่จะปรับโฉมอนาคตของโลกใหม่ ด้วยการเปลี่ยนไปเป็นระบบไร้สาย แต่อย่างไรก็ดี การนำเสนอของแอปเปิลในครั้งนี้ก็ยังคงต้องใช้สายอยู่ดี ถึงแม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้ Dongle หมดความหมายไปเลยในเรื่องการเพิ่มความสะดวกสบาย

ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดีหรือความโอหังก็ตาม แอปเปิลก็ไว้วางรากฐานบางอย่างเอาไว้แล้ว ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นๆอาจจะหลีกเลี่ยงในสิ่งนี้ หรืออาจจะเดินตามรอยแอปเปิลในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า

2. ข่าวปลอมบนเฟซบุ๊ก

การแพร่ระบาดของข่าวลือเกิดจากปัญหาที่สำคัญในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เพราะว่ามีบุคคลบางกลุ่มได้เรียนรู้วิธีการหาเงินได้เร็วอย่างง่ายๆ ว่าการเขียนข่าวที่ออกไปในทางสมรู้ร่วมคิดจะถูกแชร์ไปทั่วประเทศในบรรดากลุ่มบุคคลที่ขาดความเชื่อมั่นในสื่อหลัก

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กออกมายืนยันด้วยตัวเองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆได้เก็บรวบรวมสถิติได้บ่งชี้ถึงความจริงที่ขัดแย้งกับคำพูดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก

3. Samsung Galaxy Note7 ระเบิด

หลังจากที่ต้องเป็นเงาติดตามความสำเร็จของแอปเปิลมาอย่างช้านาน ซัมซุงก็มีแผนที่จะแซงหน้าคู่แข่งรายสำคัญด้วยการเปิดตัว Galaxy Note7

ถ้าดูตามสเปคแล้ว Note7 มีทุกอย่างที่สามารถคว่ำคู่ต่อสู้ได้อย่างสบายๆ เช่น การออกแบบกระจกโค้งมนอย่างสวยงาม หน้าจอความละเอียดสูง แบตเตอรีความจุสูง กล้องที่ดีที่สุด กันน้ำได้ ช่องเสียบเมโมมรีการ์ด ช่องเสียบหูฟัง ฯลฯ จนกระทั่งหายนะได้มาเยือนอย่างไม่คาดคิด

หลังจากที่เปิดตัวไปได้เพียงไม่นาน มีรายงานว่า Note7 หลายเครื่องได้เกิดระเบิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ซัมซุงต้องเรียกคืนโทรศัพท์ทั่วโลก แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ การเปลี่ยนแบตเตอรีใหม่ให้ซึ่งถือว่ามีความ “ปลอดภัย" แล้วก็ยังเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก นอกจากนี้ Note7 ยังเกิดไฟลุกไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ และในที่สุดก็บีบบังคับให้ซัมซุงต้องยกเลิกการผลิต Note7 โดยสิ้นเชิง

นี่ไม่ใช่เรื่องตลกในการที่อุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้ต้องตกอยู่ในอันตราย แต่อย่างไรก็ดี ฝันร้ายของซัมซุงถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ผู้ผลิตโทรศัพท์ทุกรายจะต้องจำให้แม่นว่า ความปลอดภัยต่างหากที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ฟีเจอร์ต่างๆที่ใส่มาให้

4. รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ปีนี้นับเป็นปีแห่งการยกระดับการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้นอีกขั้นอย่างแท้จริง Tesla ได้ให้คำมั่นว่า จะใส่ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เรียกว่า Autopilot ในรถยนต์ทุกรุ่น ในขณะที่ผู้ให้บริการเรียกรถ Uber เป็นบริษัทแรกที่นำเอาระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้บนถนน โดยเริ่มต้นที่เมืองพิตต์สเบิร์ก

การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิมหันมาพัฒนารถยนต์ขันเคลื่อนอัตโนมัติด้วยเช่นกัน โดย Audi ได้เปิดตัวเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นสูง ในขณะที่ GM จับมือเป็นพันธมิตรกับ Lyft เพื่อทำให้ดีทรอยต์เป็นศูนย์กลางของจุดเริ่มต้นของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ง่าย แอปเปิลได้สร้างกระแสกับ Project Titan มานายหลายปี และมีรายงานว่า แอปเปิลจะยกเลิกโครงการภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากไม่พร้อม ในขณะที่โปรแกรมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Google ได้เกิดอุบัติเหตุ และระบบ Autopilot ของ Tesla ทำให้คนขับเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ดี ปี 2559 ถือเป็นปีที่ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติมีความสำคัญมากที่สุด ถึงแม้ว่าการได้เห็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนในชีวิตประจำวันจะยังเป็นเรื่องในอนาคตก็ตาม

5. Snapchat กำหนดมาตรฐานว่าอะไรที่เจ๋งในโลกดิจิทัล

Evan Spiegel ผู้ก่อตั้ง แสดงให้โลกเห็นว่า Snapchat คือพลังที่สัมผัสได้ในปี 2559 หลังจากที่ Snapchat ได้ทำในสิ่งยอดเยี่ยมที่สุด นั่นก็คือการบันทึกรูปภาพ (!!!) ในเมมโมรี รวมไปถึงการรีแบรนด์ Snap ข่าวลือเกี่ยวกับการเปิดตัวฮาร์ดแวร์ และการเปิดขายหุ้น IPO ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เฟซบุ๊กถึงกับผวา และยักษ์ใหญ่แห่งวงการโซเชียลเน็ทเวิร์กถึงกับเพิ่มความพยายามเป็น 3 เท่าในการกีดกันคู่แข่งตัวฉกาจด้วยการลอกเลียนแบบเอาฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ฟิลเตอร์ แอนิเมชัน และข้อความที่จะหายไปหลังเปิดอ่าน มายัดใส่ทุกมุมของแอปของตัวเอง

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ความพยายามทุกอย่างของเฟซบุ๊กกลับเป็นเรื่องน่าเบื่อ (ยกเว้น Instagram Stories) และยิ่งทำให้ Snapchat มีความโดดเด่นมากขึ้น และกลายเป็นแอปโซเชียลที่ฮิบที่สุดไปโดยปริยาย

นอกจากนี้แล้ว Snapchat ยังได้เปิดตัวแว่นตา Spectacles ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า แว่นตาที่ใส่โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าไปได้ไม่ได้มีเฉพาะสำหรับเนิร์ดเท่านั้น

6. การแฮ็คเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

การแฮ็คขนาดใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติในปี 2559 และกลายมาเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น

องค์กรต่างๆ (รวมถึง WikiLeaks) สามารถที่จะติดอาวุธในการเจาะอีเมลนักการเมืองได้อย่างแยบยล รวมทั้งกำหนดเวลาในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ไปถึงสื่อได้มากที่สุด ข่าวอื้อฉาวของ Yahoo ทำให้ผู้ใช้หมดศรัทธาในบริษัทหลังจากที่ยอมรับว่า บริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการถูกแฮ็คในขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งหลังจากที่สำรวจพบเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเวลาหลายเดือน

แต่ที่สุดของที่สุดอาจจะเป็น การอุบัติขึ้นของ Mirai botnet ที่สร้างฝันร้ายให้กับการรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ เมื่อมีการโจมตีด้วย DDoS ในปริมาณมหาศาลจนส่งผลให้อินเทอร์เน็ตล่มเกือบทั้งหสรัฐ

2559 ถือเป็นปีแห่งการส่งสัญญาณว่า อนาคตของการรักษาความปลอดภัยของระบบไซเบอร์นั้นอ่อนแอ

7. Facebook Live ได้รับความนิยมสูง

การผลักดันการสตรีมวิดีโอแบบสดๆของเฟซบุ๊กเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะเข้าสูตลาดช้าเกินไป แต่ Facebook Live ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไม่เฉพาะคอนเทนท์ที่เป็นไวรัลเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการรายงานข่าวแบบเรียลไทม์ การถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอทุกอย่างนับตั้งแต่กีฬาไปจนถึงการก่อการร้าย

เมื่อเปรียบเทียบกับการถ่ายทอดสดแบบดั้งเดิม Facebook Live ให้มุมมองที่มีความเป็นจริงมากกว่าผ่านทางทายตาของบุคคลโดยไม่มีการกรองและการตัดต่อ และช่วยให้ผู้ชมจากทุกที่ทั่วโลกสามารถรับชมและมีช่องทางในการมีปฏิสัมพันธ์ไปด้วยการแสดงความเห็นและการโต้ตอบโดยตรงไปพร้อมๆกัน

8. แอปเปิล VS FBI

สิ่งที่แอปเปิลทำไห้เกิดผลกระทบอย่างแท้จริงในปีนี้ไม่ใช่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการขีดเส้นกั้นความเป็นส่วนตัว

เมื่อ FBI ฟ้องแอปเปิลให้ทำการแฮ็ค iPhone ของอดีตผู้ก่อการร้ายนั้น ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลได้ออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็วและชัดเจน โดยประกาศว่า ความพยายามในการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเปิดกล่อง "แพนดอรา" ซึ่งเป็นก้าวแรกไปสู่จุดที่ความปลอดภัยทางดิจิทัลจะเป็นเพียงภาพมายาในอนาคต

ในท้ายที่สุด FBI ก็ยอมถอยหลังจากที่พบวิธีอื่นที่สามารถแฮ็คโทรศัพท์ iPhone ที่มีปัญหาได้ แต่เรื่องดังกล่าวก็ทำให้ซีอีโอของหลายๆบริษัท เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่ทุ่มเทให้กับความเป็นส่วนตัว และแม้แต่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐก็ออกมาหนุนหลังแอปเปิล

ถึงแม้ว่ากระแสข่าวนี้จางหายไปนานแล้ว แต่การถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในเรื่องดิจิทัลและการปกป้องข้อมูลก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงทุกวันนี้

9. ใครๆก็ไม่อยากได้ทวิตเตอร์

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐช่วยจุดกระแสความดังให้กับทวิตเตอร์ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2559 ส่งผลให้ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดของทวิตเตอร์

แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ออกมาเปิดเผยว่า ทวิตเตอร์มีผู้ใช้ที่เข้าสู่ระบบของแพลตฟอร์มของบริษัทเป็นประจำเพิ่มขึ้น 10 ล้านราย นับตั้งแต่เขากลับมาเป็นซีอีโอรอบสองในปี 2558 แต่ถึงกระนั้น บริษัทโฆษณาหลายแห่งเลิกสนใจที่ลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ ในขณะที่อดัม เบรน ซีโอโอที่อยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนานได้ลาออกจากตำแหน่ง

ในเดียวกัน ได้เกิดกระแสข่าวลือรายวันเกี่ยวกับการเสนอซื้อทวิตเตอร์ และบางกระแสก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง โดยบริษัทที่ตกเป็นข่าว มีทั้ง Disney, Google และ Salesforce แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของบริษัท เนื่องจากแพลตฟอร์มยังเต็มไปด้วยพวกเกรียนคีย์บอร์ดที่เข้ามาก่อกวนในโลกไซเบอร์

อย่างไรก็ดี ทวิตเตอร์ยังมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ บริษัทได้ทำข้อตกลงกับลีกการแข่งขันกีฬาที่สำคัญของสหรัฐอย่าง NFL, MLB, NHL และ NBA ในขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงหลายร้อยตำแหน่ง รวมทั้งปิดโปรแกรม Vine เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานลงและหวังที่จะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรในท้ายที่สุด

10. เฟซบุ๊กกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก

ดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กจะมาถึงจุดสูงสุดแล้วในปี 2559 อำนาจของบริษัทในการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคข่าวสารทำให้การเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อมาถึงจุดที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ด้วยการสร้างกระแสการเมืองที่การให้ข้อมูลผิดๆกระจายไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งโดรนพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นบินเป็นครั้งแรก เพื่อสาธิตเทคโนโลยีที่จะนำเอาอินเทอร์เน็ตที่ควบคุมโดยเฟซบุ๊กไปสู่ผู้ใช้ในทุกมุมโลก

ด้านแอป Messenger ของเฟซบุ๊กทำสถิติมีผู้ใช้ทะลุ 1 พันล้านราย ในขณะที่ยอดผู้ใช้แพลตฟอร์มของบริษัททะลุ 1.79 พันล้านราย ส่งผลให้เฟซบุ๊กกลายเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญที่สุดแต่เพียงรายเดียว

ในปีนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดสดวิดีโอผ่านทางสมาร์ทโฟนและโลกเสมือนจริง รวมทั้งการเปิดตัวเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถช่วยให้คนตาบอดสัมผัสภาพถ่ายได้

11. อูเบอร์ครองตลาดอย่างเงียบๆ

อูเบอร์เป็นมากกว่าแอฟเรียกรถในปี 2559 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์แห่งนี้ยังทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติกลายเป็นเรื่องจริงในเมืองพิตต์สเบิร์ก และบริษัทยังได้เปิดตัวแผนการเดินทางทางอากาศแบบออนดีมานด์ รวมทั้งการระดมทุนในวงเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเป็นผู้นำตลาดโลก

ทั้หมดนี้เกิดขึ้นถึงแม้ว่า บริษัทจะกำลังมีปัญหาการฟ้องร้องคดีในลอนดอนและปารีส ซึ่งยังไม่รวมไปถึงในสหรัฐเกี่ยวกับสถานะการจ้างงานของพนักงานขับรถของบริษัท รวมทั้งการถอนตัวออกจากตลาดจีนโดยสิ้นเชิง

เป้าหมายต่อไปในปี 2560 ของอูเบอรืก็คือการก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์

12. VR ทุกหนทุกแห่งแต่ยังไม่ไปไหน

2559 นับเป็นปีที่โลกเสมือนจริง (VR) เริ่มต้นในทุกๆด้าน แต่เราก็ยังต้องรอดูว่า เมื่อไหร่ที่ VR จะกลายมาเป็นสื่อหลัก

แพลตฟอร์ม Oculus Rift ของเฟซบุ๊ก, Vive ของ HTC และ PlayStation VR ของ Sony ต่างก็ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีผู้ผลิตคอนเทนท์สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวรายใดที่สร้างผลกระทบให้กับฮาร์ดแวร์ ในขณะที่แอปเปิลและไมโครซอฟท์หันไปให้ความสำคัญกับความเป็นจริงเสมือน (AR) ส่วน Magic Leap ยังเน้นไปที่การนำความเป็นจริงเสมือนมาใส่ในโลกความเป็นจริง

ถึงกระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า VR จะนำหน้าอยู่หนึ่งก้าว และนี่เป็นเพียงปฐมบทของ VR ที่ได้วางรกฐานระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับความสำเร็จในอนาคต แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องถึงจุดที่ผู้พัฒนาสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ก่อน ซึ่งยังรู้สึกว่าจุดหมายดังกล่าวอาจจะไกลเกินเอื้อมเล็กน้อยในปัจจุบันก็ตาม

ณ จุดนี้ ทีมงาน In Focus เชื่อว่าผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่า เทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเองอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าบางอย่างอาจจะสัมผัสไม่ได้ทางความรู้สึกก็ตาม ส่วนในปีหน้า เราก็ยังจะทำหน้าที่รวบรวมเอาเรื่องราวที่เป็นสุดในวงการเทคโนโลยีเหล่านี้มานำเสนอให้แฟนๆ ได้ระลึกถึงเหตุการณ์ในปีก่อนที่จะเข้าสู่ปีใหม่พร้อมกับเรื่องราวใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ