In Focusชำแหละแผนหั่นภาษี"ทรัมป์"…อุ้มคนรวย หรือช่วยคนจน?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 15, 2017 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่เปิดตัวนโยบายแต่ละอย่างที่มีแต่เรียกแขก และเรียกก้อนอิฐจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันชาวมุสลิมเข้าประเทศ หรือการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เริ่มส่งสัญญาณออกนโยบายที่ดูจะเข้าตานักลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเขากล่าวว่าจะมีการประกาศมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งแรงทำนิวไฮครั้งใหม่ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย จากการคาดการณ์ว่าภาคเอกชนสหรัฐจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการเสียภาษีน้อยลง

In Focus สัปดาห์นี้ จะเจาะลึกถึงมาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์ที่อาจมีการประกาศในไม่ช้า ซึ่งจะวิเคราะห์จากแผนปรับลดภาษีของเขาที่เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ โดยปธน.ทรัมป์จะนำแผนดังกล่าวเข้ารวมกับแผนการปฏิรูปภาษีฉบับของนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และคาดว่าแผนปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายที่ปธน.ทรัมป์จะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้านั้น จะไม่แตกต่างมากนักจากพิมพ์เขียวของเขาและของนายไรอันที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้

*"ยกเครื่องภาษี" งานหินท้าทายรัฐบาลสหรัฐมาหลายสมัย

นักวิชาการให้นิยามความหมายของคำว่า การปรับลดภาษี คือการปรับลดอัตราภาษีที่ประชาชน และ/หรือภาคธุรกิจจ่ายให้แก่รัฐบาล ขณะที่การปฏิรูปภาษีนั้น รัฐบาลสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ แต่หลักใหญ่เป็นการย้ายการแบกรับภาระภาษีจากกลุ่มบุคคลหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐต้องจัดทำแผนปฏิรูปภาษีด้วยความรอบคอบ เนื่องจากการปรับลดภาษีจะทำให้รายได้ของรัฐบาลขาดหายไป ท่ามกลางปัญหาการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก

การปฏิรูปภาษีในครั้งนี้ จะถือเป็นการยกเครื่องระบบภาษีเป็นครั้งแรกในสหรัฐ หลังจากที่มีการใช้ประมวลกฎหมายภาษีฉบับปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 1986

ที่ผ่านมา พรรคเดโมแครต และรีพับลิกันได้ใช้ความพยายามมานานกว่า 20 ปีในการปรับปรุงระบบภาษีของประเทศ โดยในแต่ละปี รัฐบาลสหรัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในระหว่างปี 2007-2016 สหรัฐประสบภาวะหนี้ที่พุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สู่ระดับ 77% จาก 35% ซึ่งหมายความว่า ปธน.ทรัมป์ได้เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการมีหนี้ก้อนโตที่สุดเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีก่อนหน้าเขา นับตั้งแต่สมัยปธน.แฮร์รี ทรูแมนในปี 1945 ซึ่งขณะนั้น หนี้ภาครัฐของสหรัฐพุ่งแตะระดับ 103% ต่อจีดีพี

ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังหันไปใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลาหลายปี ก็มีแนวโน้มทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐมีต้นทุนในการจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นสำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีวงเงินในขณะนี้สูงเกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์

ปธน.ทรัมป์หวังว่าเขาจะสามารถชดเชยรายได้ของรัฐที่ขาดหายไปจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ด้วยการเรียกเก็บภาษีใหม่ต่อผลกำไรของบริษัทสหรัฐที่ซุกในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในระดับสูงในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการยิงปืนหนึ่งนัดได้นกสองตัว โดยจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการบังคับให้บริษัทเหล่านี้หันกลับมาลงทุนในสหรัฐ

ปธน.ทรัมป์ได้เคยแสดงความไม่พอใจต่อการเสียภาษีของภาคธุรกิจสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากถึงแม้ว่ากฎหมายระบุว่า ภาคเอกชนต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 35% แต่บริษัทหลายแห่งก็ได้จ่ายภาษีน้อยกว่าระดับดังกล่าวมาก โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่คิดอัตราภาษีต่ำกว่าสหรัฐ และพักเงินรายได้จากต่างประเทศไว้นอกสหรัฐ

บริษัทแอปเปิล อิงค์ ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด โดยบริษัทได้ไปลงทุนในไอร์แลนด์ ขณะที่คาดหวังการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีย้อนหลังต่อบริษัทแอปเปิลกว่า 1 หมื่นล้านยูโร โดยระบุว่าบริษัทได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของ EU เป็นเวลากว่า 10 ปี

*เปิดโผ 24 บริษัทส้มหล่นรับประโยชน์จากแผนปรับลดภาษี

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง ซิตี้กรุ๊ป, เจพีมอร์แกน และโกลด์แมน แซคส์ ได้แนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นของบริษัท 24 แห่งในตลาดวอลล์สตรีท ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากแผนการปรับลดภาษีของปธน.ทรัมป์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัท Nordstrom ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่เพิ่งประกาศว่าจะไม่รับวางจำหน่ายแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับของนางอิวานกา ทรัมป์ บุตรสาวคนโตของปธน.ทรัมป์

ทั้งนี้ รายชื่อบริษัททั้ง 24 แห่งดังกล่าว ได้แก่ Nordstrom, Ralph Lauren, Gap, Disney, Verizon, ConocoPhillips, Caterpillar, Cisco, Pfizer, Western Digital, American Express, CVS Health, Charles Schwab, Quest Diagnostics, Southwest Airlines, Paychex, Anthem, AutoNation, CarMax, DaVita, Humana, J.B. Hunt Transport Svcs., Tesoro และ WEC Energy

*นโยบายภาษีทำรีพับลิกันยอมจูบปาก"ทรัมป์"

ที่ผ่านมา สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสต่างก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายอย่างของปธน.ทรัมป์ เช่น นโยบายต่อต้านการค้าเสรีด้วยการตั้งกำแพงภาษีเพื่อจำกัดการนำเข้า, การสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเพื่อสกัดผู้ลักลอบเข้าเมือง รวมทั้งการห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐเพื่อป้องกันการก่อการร้ายในประเทศ

อย่างไรก็ดี มีนโยบายเดียวที่สามารถทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกันเห็นพ้องกับปธน.ทรัมป์ได้ ซึ่งนั่นก็คือ การปรับลดภาษี โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มคนรวยที่สุดของประเทศ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับพรรครีพับลิกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน และคนร่ำรวย

*"ทรัมป์"-รีพับลิกันเชื่อลดภาษีคนรวยจะช่วยคนจน

ทั้งปธน.ทรัมป์ และนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ต่างก็ได้เคยเปิดเผยร่างแผนการปฏิรูปภาษีของตน โดยอิงจากความเชื่อที่ว่า การลดภาษีให้กลุ่มคนรวยที่เป็นคนสร้างงานของประเทศ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก และทำให้ชาวสหรัฐมีงานทำมากขึ้น ขณะที่รายได้จากภาษีจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลขาดหายไปนั้น จะได้รับการชดเชยจากรายได้พิเศษที่จะไหลกลับเข้าสู่คลังของรัฐบาลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา

ปธน.ทรัมป์เคยระบุว่า เขามีแผนปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นสูงสุดจาก 35% เหลือเพียง 15% ในขณะที่แผนการปรับลดอัตราภาษีของนายไรอัน เสนอให้มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20%

*ขุนคลังสหรัฐยันไม่มีการลดภาษีเอื้อคนรวย

ทางด้านนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ยืนยันว่า มาตรการปรับลดภาษีของรัฐบาลสหรัฐจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนร่ำรวยอย่างแน่นอน โดยการลดภาษีดังกล่าว จะพ่วงด้วยการปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้ รวมทั้งจะมีการลดการหักลดหย่อนภาษี ขณะที่รัฐบาลจะปรับลดภาษีครั้งใหญ่สำหรับชนชั้นกลาง

*กางแผนปฏิรูปภาษีฉบับ"ทรัมป์"-“ไรอัน"

เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปภาษีภาคธุรกิจของปธน.ทรัมป์คือ เม็ดเงินจำนวน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง แอปเปิล, เจเนอรัล อิเลคทริค, ไมโครซอฟต์ และไฟเซอร์ ซุกอยู่ในต่างประเทศ ไกลเกินกว่าที่กรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) จะสามารถเอื้อมถึง

ปธน.ทรัมป์เคยลั่นวาจาว่า เขาจะทำให้บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของสหรัฐจ่ายเงินภาษีให้รัฐบาลสหรัฐอย่างครบถ้วนทุกปี ด้วยการใช้นโยบายหั่นภาษีเพื่อดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้กลับมาลงทุนในประเทศ

อย่างไรก็ดี นักวิชาการเตือนว่า รายได้จากภาษีที่ขาดหายไป ซึ่งอาจสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลา 1 ทศวรรษ อาจทำให้เกิดศึกภายในพรรครีพับลิกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายของรัฐในโครงการสวัสดิการสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้ต่ำ และฝ่ายที่ต้องการคงสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไว้ ซึ่งได้แก่ ปธน.ทรัมป์ เนื่องจากเขาต้องการรักษาฐานเสียงซึ่งเป็นชาวสหรัฐกลุ่มดังกล่าวที่ได้แสดงพลังสนับสนุนเขาในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แผนการปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์ และของนายไรอันที่เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ ต่างก็ต้องการปรับลดภาษีสำหรับกลุ่มคนมั่งคั่งที่สุดในสหรัฐ ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุด, ลดอัตราภาษีกำไรจากการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งการลดภาษีดังกล่าว 70% ได้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ, ยกเลิกภาษีอสังหาริมทรัพย์สำหรับคู่สมรสที่มีอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 10.8 ล้านดอลลาร์ และยกเลิกภาษีพิเศษ 3.8% จากรายได้ในการลงทุนของผู้มีรายได้สูงที่เคยเรียกเก็บเพื่อนำเงินมาชดเชยโครงการรักษาสุขภาพของผู้มีรายได้ต่ำ

นอกจากนี้ แผนการปฏิรูปภาษีของนายไรอัน ยังรวมถึงการขยายการให้การลดหย่อนภาษีไปสู่ครอบครัวยากจนซึ่งไม่มีบุตร

*นักวิชาการฟันธงคนรวยได้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการหั่นภาษี

นักวิเคราะห์ระบุว่า ไม่ว่าพิจารณาจากแผนปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์ หรือของนายไรอันที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับลดภาษีในครั้งนี้

Tax Policy Center (TPC) ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันบรู้คกิ้งส์ และสถาบันเออร์บัน ระบุว่า เมื่อมองจากแผนปฏิรูปภาษีของนายไรอัน หรืออาจเรียกว่าแผนของพรรครีพับลิกัน ผู้เสียภาษีที่อยู่ในกลุ่มมีรายได้สูงสุดจะได้รับการปรับลดมากที่สุด ทั้งในแง่ของตัวเงินดอลลาร์ และสัดส่วนคิดเป็นเปอร์เซนต์ของรายได้

TPC ระบุว่า การปรับลดภาษีในสัดส่วนถึง 3 ใน 4 จะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้เสียภาษีสูงสุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด โดยได้รับการปรับลดภาษีเฉลี่ยราว 1.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 16.9% ของรายได้หลังหักภาษี ส่วนชนชั้นกลางได้รับการปรับลดภาษีเฉลี่ยราว 260 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำที่สุดได้รับการปรับลดภาษี 50 ดอลลาร์

TPC เตือนว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในปี 2025 กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีทั้งหมดเกือบ 100%

นอกจากนี้ TPC ยังระบุว่า ผลการวิเคราะห์แผนการปรับลดอัตราภาษีของปธน.ทรัมป์ที่เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ พบว่า กลุ่มคนรวยที่สุดของสหรัฐ ซึ่งมีรายได้มากกว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และคิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1% ของประเทศ จะได้รับการปรับลดภาษีจำนวน 1.1 ล้านดอลลาร์ หรือโดยเฉลี่ย 14% ส่วนในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งมีรายได้ราว 48,000-83,000 ดอลลาร์ จะได้รับการปรับลดภาษีจำนวน 1,010 ดอลลาร์ หรือโดยเฉลี่ย 1.8% ขณะที่กลุ่มที่ยากจนที่สุดจะได้รับการปรับลดภาษีจำนวน 110 ดอลลาร์ หรือโดยเฉลี่ย 1%

ทางด้าน Tax Foundation (TF) ระบุว่า ผู้เสียภาษีจำนวน 80% จะได้รับการปรับลดภาษีเพียง 0.2-0.5% ในขณะที่กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด จะได้รับการปรับลดภาษีสูงกว่าถึง 10 เท่า หรือราว 5.3% หรือคิดเป็นเงินราว 100,000 ดอลลาร์ สูงกว่าครอบครัวชนชั้นกลางถึง 32 เท่า

*นักวิชาการเตือนรัฐบาลรายได้หด-หนี้พุ่ง หลังคลอดกฎหมายปฏิรูปภาษี

TPC ประเมินว่า แผนปรับลดภาษีของปธน.ทรัมป์จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงราว 6.2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และจะสร้างหนี้ให้รัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 7.2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 20.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2036 ส่วนแผนของพรรครีพับลิกันจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลงราว 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าแผนปรับลดภาษีของปธน.ทรัมป์จะทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปี จากที่ในปัจจุบันขาดดุลเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์

*อย่าฝันว่าแผนปรับลดภาษีจะใช้ได้จริงแบบเร็วทันใจ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าปธน.ทรัมป์จะเปิดเผยแผนปฏิรูปภาษีตัวจริงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าตามที่เขาสัญญาไว้ แต่ผู้ที่คาดหวังจะให้การปรับลดภาษีมีผลทันทีคงจะต้องผิดหวัง และชาวอเมริกันคงต้องยื่นแบบภาษีตามการคำนวณแบบเก่าในปีภาษีนี้ เนื่องจากการที่ร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่จะผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสนั้น ยังคงต้องใช้เวลา

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า กว่าที่ปธน.ทรัมป์จะลงนามในร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีได้ อย่างเร็วที่สุดก็คงจะเป็นปลายปีนี้ หรือเลยไปถึงปีหน้า เนื่องจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ความสำคัญต่อการยกเลิกนโยบายโอบามาแคร์ ก่อนที่จะหันมาพิจารณาแผนปฏิรูปภาษีของรัฐบาล

นอกจากนี้ นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้กล่าวว่า สภาคองเกรสจะไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี จนกว่าจะมีการอนุมัติงบประมาณในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งหมายความว่า รัฐสภาจะยังไม่เริ่มให้ความสนใจต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี จนกว่าจะถึงช่วงฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ร่วง

*ทั่วโลกลุ้นมาตรการปฏิรูปภาษี หวั่นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่ถอนตัวกลับสหรัฐ

การวิเคราะห์มาตรการปฏิรูปภาษี และผลกระทบที่เกิดขึ้นในรายงานวันนี้ ได้อิงจากแผนของปธน.ทรัมป์ และของนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจใกล้เคียง หรือแตกต่างจากฉบับจริงที่ปธน.ทรัมป์จะประกาศในไม่ช้า โดยคาดว่าอาจจะเป็นปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า ซึ่งเราคงต้องติดตามว่ามีเนื้อหาอย่างไร และคนรวยจะได้ประโยชน์จริงตามที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือไม่ ขณะที่ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะเม็กซิโก คงต้องจับตาการปรับลดอัตราภาษีขนานใหญ่ในครั้งนี้ เนื่องจากอาจทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันแห่ถอนการลงทุนออกจากประเทศกลับไปยังสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยก็คงจะต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ