In Focus“สก็อตแลนด์ต้องการอะไร... ทำไมต้องแยกตัวจากสหราชอาณาจักร?"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 1, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประเด็นที่"สก็อตแลนด์"ต้องการแยกตัวออกจาก"สหราชอาณาจักร" ซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์สหราชอาณาจักรโหวตถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ความปรารถนาของสก็อตแลนด์นั้นใช่ว่า จะเพิ่งเกิดขึ้น และ Brexit ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวของความต้องการดังกล่าว หากแต่

เรื่องนี้มีที่มา...

แรกเริ่มเดิมทีนั้น สก็อตแลนด์ก็เป็นประเทศอิสระที่ไม่ขึ้นกับใคร ทว่าเมื่อปี ค.ศ. 1603 พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ได้ทรงครองบัลลังก์ควบประเทศอังกฤษ เนื่องจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ไม่มีรัชทายาทสายตรง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ยังแยกกันอยู่ และระหว่างนี้ก็มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะรวมประเทศหลายครั้ง จนมาประสบความสำเร็จเอาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 เมื่อรัฐบาลสก็อตแลนด์ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินจากการสร้างอาณานิคมที่ปานามา (Darien Scheme) รัฐบาลอังกฤษจึงยื่นมือเข้าช่วยโดยเสนอเงื่อนไขว่าให้รวมประเทศเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ “สหราชอาณาจักร" ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบโดยเสียงส่วนใหญ่ของรัฐ ทว่าประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย และประณามการรวมประเทศในครั้งนั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากการผนวกเข้าเป็นสหราชอาณาจักร ประเทศสก็อตแลนด์ก็พัฒนาขึ้นมาอย่างน่าเหลือเชื่อจนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในโลกช่วงศตวรรษที่ 18-19 และเป็นแม่แบบทางการศึกษาให้กับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย อีกทั้งยังพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก และสามารถดึงดูดบุคลากรระดับหัวกะทิให้เข้ามาศึกษาวิทยาการความรู้ได้มากมาย อาทิ ชาลส์ ดาวิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ และโจเซฟ ลิสเตอร์ บิดาแห่งการแพทย์ผ่าตัดแบบปลอดเชื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวสก็อตแลนด์ยังเป็นต้นแบบในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ มากมาย เช่น โทรศัพท์, โทรทัศน์, ยาปฏิชีวนะ, การผ่าตัดสมัยใหม่, การใช้ยางมะตอยปูถนน, ฯลฯ ยังไม่นับรวมมรดกด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินจากผลงาน Wealth of Nations ของอดัม สมิธ และการก่อตั้งธนาคารสำคัญ ๆ ของโลกโดยชาวสก็อตแลนด์อีกหลายแห่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมชาวสก็อตส่วนใหญ่ถึงอยากได้ความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงกลับคืนมา

จนกระทั่งในปี 2542 รัฐบาลอังกฤษได้ผ่อนปรนแก้ไขกฎหมายให้สก็อตแลนด์ปกครองตนเองได้ ซึ่งความใจกว้างของอังกฤษในครั้งนั้นเป็นตัวสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องครั้งสำคัญจนผลักดันให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ยอมลงนามรับรองต่อการจัดหยั่งเสียงประชามติให้สก็อตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราชปี 2557

การลงมติครั้งประวัติศาสตร์

และแล้วในวันที่ 18 ก.ย. 2557 ผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในสก็อตแลนด์และมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์กว่า 3 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4 ล้านคน คิดเป็น 84.6% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าสถิติการลงประชามติครั้งอื่น ๆ ของสก็อตแลนด์ ได้ออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปหรือไม่ และผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 19 ก.ย. 2557 ชี้ให้เห็นว่า ชาวสก็อตเลือกที่จะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป ด้วยคะแนนนำ 55.3% ต่อ 44.7%

นายอเล็กซ์ แซลมอนด์ นายกรัฐมนตรีสก็อตแลนด์ และผู้นำการรณรงค์ให้สก็อตแลนด์แยกตัวจากสหราชอาณาจักรยอมรับในคำตัดสินของประชาชน และลาออกจากตำแหน่ง ส่วนอังกฤษก็แบ่งอำนาจให้สก็อตแลนด์จัดการตัวเองได้มากขึ้นตามที่ให้สัญญาไว้ โดยเฉพาะกฎหมายเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจัดสวัสดิการสังคม

สำหรับข้อดี และข้อเสียของการแยกตัวจากสหราชอาณาจักรในครั้งนั้นได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น พอล ครูกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่สรุปว่าสก็อตแลนด์จะเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำหากแยกออกมาเป็นประเทศใหม่ ด้วยเพราะยังต้องพึ่งพาธนาคารกลางอังกฤษและเงินปอนด์ เหมือนกับสเปนที่ไม่มีสกุลเงินเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเงินยูโร และเมื่อเกิดวิกฤติก็ต้องยอมรับนโยบายการเงินแบบอนุรักษ์นิยมซึ่งกำหนดโดยประเทศเยอรมนี แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายการคลังส่วนกลาง เพราะแยกประเทศออกมาแล้ว

ข้อคิดเห็นของครูกแมนนี้ได้รับการสนับสนุนจากการที่ธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางของสก็อตแลนด์ทั้ง 5 แห่งที่ประกาศว่า หากเสียงข้างมากโหวตให้ประเทศสก็อตแลนด์แยกตัวจากสหราชอาณาจักรจริง ก็จะต้องย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังอังกฤษเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองดูแลจากธนาคารกลางอังกฤษ หลายฝ่ายจึงเกรงว่าจะมีการไหลออกของเงินและสร้างปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลการลงประชามติออกมาตามข้อมูลดังกล่าว

มุมมองที่แตกต่าง

ในส่วนของประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนให้สก็อตแลนด์แยกตัวเป็นอิสระนั้น ต้องการที่จะสร้างสังคมซึ่งมีความเสมอภาคและเป็นธรรมมากขึ้น ตั้งแต่การสร้างโอกาสในการถ่ายโอนหน้าที่บริหารบ้านเมืองสู่ประชาชนท้องถิ่น แทนที่จะต้องยอมรับชะตากรรมจากนโยบายซึ่งกำหนดจากรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ สหราชอาณาจักรคาดหวังให้ประเทศอื่น ๆ ลงนามในข้อตกลงเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทว่าตนเองยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแผนที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มในสก็อตแลนด์อีก ความเห็นต่างกับแนวทางดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึง

แม้ว่า ประชากรของสก็อตแลนด์ต่อประชากรในสหราชอาณาจักรทั้งหมดจะมีเพียง 1 ใน 10 แต่พื้นที่ของประเทศนั้นครอบคลุมถึง 1 ใน 3 และยังมีปริมาณน้ำมันสำรองในทะเลเหนืออยู่ในปริมาณมาก ทว่ารายได้ส่วนใหญ่กลับส่งต่อโดยตรงกลับไปยังรัฐบาลส่วนกลาง มีการประมาณการณ์ว่า ใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลกลางเก็บเกี่ยวรายได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปจากพื้นที่ประเทศสก็อตแลนด์เป็นมูลค่าถึง 129,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินต่อหัวประชากรคนละ 2,300 ปอนด์ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่ถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนการต่อสู้ เพราะในทศวรรษที่ 1970 พรรคชาตินิยมสกอตก็เคยหยิบยกการเสียเปรียบดังกล่าวมาเรียกร้องเอกราชเช่นกัน

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ความต้องการพลังงานและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในยุโรป สก็อตแลนด์รู้ตัวดีว่ามีศักยภาพพอที่จะเป็นประเทศผู้นำระดับโลกได้ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานยั่งยืนอยู่มาก ส่งผลต่อการจ้างงานที่จะถีบตัวสูงขึ้น รวมถึงเชื่อว่ารัฐบาลใหม่แห่งสก็อตแลนด์ที่เป็นเอกราชนั้นมีแผนโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเรียบร้อยแล้ว ชีวิตของคนในประเทศย่อมจะดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น ค่าจ้างในลอนดอนกับสก็อตแลนด์เองก็แตกต่างกันอย่างมหาศาล ชาวสก็อตจำนวนมากจึงต้องการมาตรการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ลง

การเรียกร้องเอกราชครั้งใหม่

จนถึงวันนี้ แม้เวลาจะผ่านมาเพียงไม่กี่ปี แต่สถานการณ์นั้นแตกต่างกัน เพราะสหราชอาณาจักรจะมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปอีกต่อไป และนางนิโคล่า สเตอร์เจียน ผู้นำและมุขมนตรีของสก็อตแลนด์ ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วว่าการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของชาวสก็อต และมีแนวโน้มสูงที่สก็อตแลนด์จะจัดทำประชามติครั้งใหม่เพื่อตัดสินว่าจะอยู่ในสหราชอาณาจักรหรือไม่ หลังจากที่ผลการนับคะแนนพบว่าอังกฤษต้องการที่จะแยกตัวจาก EU ขณะที่สก็อตแลนด์ลงประชามติให้อยู่ใน EU ต่อไป

นางสเตอร์เจียนเพิ่มเติมว่า จุดยืนที่ต่างกันของอังกฤษและสก็อตแลนด์เกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ทำให้สก็อตแลนด์มีความชอบธรรมที่จะจัดการลงประชามติครั้งใหม่เพื่อตัดสินอีกครั้งว่าจะอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งทางสภานิติบัญญัติจะเตรียมการสำหรับการทำประชามติครั้งใหม่ เพื่อให้สก็อตแลนด์เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร และทำให้สก็อตแลนด์สามารถเข้าร่วมกับ EU ได้

วานนี้ โฆษกรัฐบาลอังกฤษออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การทำประชามติครั้งใหม่ของสก็อตแลนด์กำลังจุดกระแสแห่งความไม่แน่นอนและความแตกแยกขึ้น สะท้อนทางอ้อมถึงจุดยืนของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ว่าไม่มีความจำเป็นสำหรับสก็อตแลนด์ที่จะจัดการลงประชามติในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี พรรคชาตินิยมสก็อตกำลังเตรียมเรียกร้องให้มีการจัดทำประชามติครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ตรงกับการประกาศอย่างเป็นทางการของนางเมย์ที่จะให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ