In Focus15 มี.ค. ศึกเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ กับข้อเท็จจริง 15 ประการ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 15, 2017 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันนี้ 15 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์พอดี ซึ่งจะว่าไปแล้วกระแสก็ไม่ดังเปรี้ยงป้างเหมือนกับการเลือกตั้งฝรั่งเศส จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีข่าวพิพาทกันระหว่างรัฐบาลตุรกีกับเนเธอร์แลนด์ หลังทางการเนเธอร์แลนด์ได้ปฏิเสธไม่ให้นักการเมืองตุรกีเดินทางเข้าประเทศเนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ส่งผลให้การเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ทั้งในหมู่ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์เองและทั่วโลก เนื่องจากเกิดความวิตกกังวลกันว่า การที่เนเธอร์แลนด์ปฏิเสธไม่ให้นักการเมืองตุรกีเข้าประเทศนั้นจะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านชาวมุสลิมและผู้ลี้ภัยจากประเทศใกล้เคียง ประจวบเหมาะกับที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองรายหนึ่งที่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำเนเธอร์แลนด์และมีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิมพอดิบพอดี การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษมากกว่าครั้งอื่นๆ

In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอข้อเท็จจริง 15 ประการที่ควรรู้ จำนวนข้อเท่ากับเลขวันเลือกตั้งพอดี ก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะเปิดคูหาเลือกตั้งในช่วงบ่ายๆวันนี้ตามเวลาไทย

1. เวลาเปิด/ปิดคูหาเลือกตั้ง

คูหาเลือกตั้งจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงคะแนนเวลา 7.30 น. ตามเวลาเนเธอร์แลนด์ หรือเวลา 13.30 น. ตามเวลาไทย และจะปิดการลงคะแนนเวลา 21.00 น. ตามเวลาเนเธอร์แลนด์ หรือประมาณตี 3 ของไทย

อย่างไรก็ดี ทางการเนเธอร์แลนด์จะต่อเวลาให้อีก 5 ชั่วโมงสำหรับคูหาเลือกตั้งบนเกาะในอาณัติของเนเธอร์แลนด์ 3 แห่งในทะเลแคริบเบียน ได้แก่ เกาะบอแนร์ ซาบา และเซนต์อุสตาเทียส แต่ก็ไม่ได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับทั้งแผ่นดินใหญ่

2. เลือกตั้งครั้งนี้มีเอ็กซิตโพลล์ไหม

Ipsos จะรับหน้าที่เป็นผู้ทำเอ็กซิตโพลล์ในครั้งนี้ โดยหลังปิดคูหาเวลา 21.00 น. จะมีการเปิดเผยผลเอ็กซิตโพลล์รอบแรก ซึ่งเป็นผลการสำรวจ ณ เวลาก่อนที่จะปิดคูหาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นจะมีการอัพเดทโพลล์อีกครั้งเวลา 21.30 น. ตามเวลาเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งก่อนๆแล้ว เอ็กซิตโพลล์ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ

3. ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ

คาดว่าจะสามารถทราบผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการได้หลังปิดคูหาไปไม่ถึงชั่วโมง แต่อาจจะเป็นผลการนับคะแนนจากเขตการเลือกตั้งเล็กๆ ขณะที่เมืองใหญ่ๆอย่างอัมสเตอร์ดัมและรอตเทอร์ดัม คาดว่าจะรายงานผลนับคะแนนได้หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป หรือประมาณ 6 โมงเช้าบ้านเรา

สำหรับผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการรวมกันทั่วประเทศ จะมีการประกาศอย่างช้าที่สุดในวันที่ 21 มี.ค.

4. ระบบการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง “สมาชิกรัฐสภา" ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้นำประเทศโดยตรง ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์จะเข้าไปเลือกพรรคการเมืองเพื่อคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์ หรือที่เรียกกันว่า Tweede Kamer ซึ่งหมายความว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกพรรค ไม่ได้เจาะจงเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

หากพรรคใดพรรคหนึ่งคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้ 76 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่งแล้ว ไม่ว่าจะในนามพรรคของตนหรือร่วมกับพรรคอื่น ก็จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเมื่อดูตามสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ผู้นำของพรรคที่มีจำนวนเก้าอี้ในรัฐสภามากที่สุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์

5. คู่ชิงหลักในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์

หากจะกล่าวถึงพรรคการเมืองหลักๆซึ่งถูกจับตามองเป็นพิเศษในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คงหนีไม่พ้นพรรค People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) ของนายมาร์ค รุตเต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ และพรรคขวาจัดที่ชูนโยบายประชานิยมอย่างพรรค Party for Freedom (PVV) ของนายเกิร์ต ไวล์เดอร์ส

6. “เกิร์ต ไวล์เดอร์ส" ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ทรัมป์" แห่งเนเธอร์แลนด์

ผู้นำพรรคขวาจัดรายนี้มีนโยบายต้านมุสลิมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น นายไวล์เดอร์สเดินหน้าหาเสียงในช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยการแสดงความเห็นที่อื้อฉาวเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโมรอกโก พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะปิดมัสยิด และดึงเนเธอร์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ภายใต้คำขวัญที่ว่า "make the Netherlands ours again"

จะว่าไปแล้วหากยกให้นายไวล์เดอร์ส เป็น “โดนัลด์ ทรัมป์" แห่งเนเธอร์แลนด์ ก็อาจจะไม่ตรงมากนัก เพราะแม้ว่าชายทั้งสองจะมีผมบลอนด์และติดเล่นทวิตเตอร์เหมือนกัน แต่นายไวล์เดอร์สนั้นลงเล่นสนามการเมืองมากว่า 20 ปีแล้ว ทว่าเพิ่งมาได้รับความสนใจก็ตอนที่เขาออกมาวิจารณ์นโยบายการเข้าเมืองและศาสนาอิสลามเมื่อปี 2547 จนถูกขู่เอาชีวิตและจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลรักษาความปลอดภัยแทบจะตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้

7. ไม่เคยมีพรรคไหนคว้าเสียงข้างมากในรัฐสภาเนเธอร์แลนด์

นับตั้งแต่ที่เนเธอร์แลนด์ได้มีการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ว่า ไม่เคยมีพรรคใดสามารถคว้าเสียงข้างมากในรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ได้เพียงพรรคเดียวเลย ซึ่งหมายความว่า พรรคที่คว้าเก้าอี้มาได้มากที่สุด จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่นๆ และเมื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมได้แล้ว ผู้นำพรรคที่มีจำนวนเก้าอี้มากที่สุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับการเลือกตั้งปีนี้ มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งสิ้น 28 พรรค ด้วยจำนวนผู้ชิงตำแหน่ง 1,114 ราย เมื่อเทียบกับจำนวนที่นั่งในรัฐสภาทั้งสิ้น 150 ที่นั่ง

8. ผู้เชี่ยวชาญวิพากษ์เลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ ฟันธงจัดตั้งรัฐบาลผสมเหงื่อตก

เหล่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล โดยปราศจากพรรคขวาดจัดที่ชูนโยบายประชานิยมอย่างพรรค Party for Freedom (PVV)

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า รัฐบาลผสมระหว่างพรรค VVD, CDA, D66 และพรรคอื่นๆอีกหนึ่งหรือสองพรรคนั้น มีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากที่สุด นับตั้งแต่ที่พรรค PVV ของนายเกิร์ต ไวล์เดอร์ส ถูกโดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองอื่นๆ

นายรุตเต ผู้นำพรรค VVD เคยกล่าวกับสื่อก่อนหน้านี้ว่า โอกาสที่จะร่วมมือกันกับพรรค PVV นั้นมีแค่ศูนย์ พรรคการเมืองอีก 6 พรรค ซึ่งอาจจะกวาดที่นั่งได้กว่า 10 ที่นั่งนั้น ไม่สนใจที่จะร่วมวงกับพรรคที่แอนตี้ชาวมุสลิมและยุโรปพรรคนี้

9. “ไวล์เดอร์ส" กับโอกาสเป็นนายกฯอันริบหรี่

สมมุติว่า นายเกิร์ต ไวล์เดอร์ส ผู้นำพรรค PVV สามารถกวาดที่นั่งในสภาล่างได้มากที่สุด แต่ความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์แทบจะเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับโอกาสในการมีบทบาทในรัฐบาลผสมที่อาจถูกจัดตั้งขึ้น

เหตุผลก็คือ ระบบการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์นั้นแตกต่างไปจากของประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ที่ผ่านมาเนเธอร์แลนด์มีรัฐบาลผสมมาตลอด ซึ่งหากพรรค PVV ได้เป็นพรรคที่สามารถกวาดที่นั่งได้มากที่สุด การเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆคงลำบาก เพราะคงจะไม่มีพรรคใดให้ความร่วมมือด้วย โดยพรรคขนาดกลางและใหญ่ๆเกือบทุกพรรคได้ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับไวล์เดอร์ส เนื่องด้วยทั้งแนวคิดของนายไวล์เดอร์สเอง และรวมถึงการที่นายไวล์เดอร์สเองก็เคยมีประวัติสละเรือรัฐบาลผสมมาแล้ว

10. โอกาสริบหรี่ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย

แม้ว่าโอกาสที่นายไวล์เดอร์สจะเป็นนายกรัฐมนตรีแทบจะเป็นศูนย์ แต่ก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย นักวิเคราะห์มองว่า ความฝันในการเป็นผู้นำประเทศของนายไวล์เดอร์สจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อนายไวล์เดอร์สได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างถล่มทลายเกินการคาดการณ์ของทุกสำนัก ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลให้พรรคการเมืองบางพรรคกลับลำหันมาจัดตั้งรัฐบาลกับนายไวล์เดอร์ส

11. โพลล์ชี้ชาวเนเธอร์แลนด์ยังขาดความกระตือรือร้น

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกสื่อทั้งในและต่างประเทศจับตาเป็นพิเศษ แต่ก็น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่ผลการสำรวจพบว่า ชาวเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนมากยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด โดยนักวิเคราะห์คาดว่า เหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่นักการเมืองมองปัญหาไม่เหมือนประชาชน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักการเมืองเนเธอร์แลนด์มักหาเสียงด้วยประเด็นร้อนแรงอย่างการจัดการกับผู้ลี้ภัยและศาสนาอิสลาม ทว่าประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่แล้วให้ความสนใจกับประเด็นพื้นฐานมากกว่า เช่น สาธารณสุข ประกันสังคม การจัดการกับภัยก่อการร้าย และการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่นักการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่า

12. เลือกตั้งเนเธอร์แลนด์กระทบประเทศอื่นๆอย่างไร

คะแนนสนับสนุนนายไวล์เดอร์สในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นมาตรวัดของการแพร่กระจายของพลังแห่งลัทธิประชานิยมในยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเตรียมเปิดฉากการเลือกตั้งเร็วๆนี้เช่นกัน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะเปิดฉากขึ้นในเดือนหน้า นางมารีน เลเปน จากพรรคขวาจัด มีคะแนนแซงหน้า และในเดือนก.ย. พรรค Alternative for Germany ก็มีแนวโน้มว่า จะกวาดที่นั่งได้เป็นครั้งแรกในศึกเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

13. อนาคตของเนเธอร์แลนด์ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป

แม้ว่าประเด็นเรื่องการถอนเนเธอร์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่มีชื่อเรียกขานว่า Nexit นั้นได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงหลังช่วงประชามติอังกฤษได้ไม่นาน แต่ผลการสำรวจจาก SCP ระบุว่า กระแสต่อต้านยุโรปนั้นได้อ่อนแรงลงแล้วในเนเธอร์แลนด์ แม้แต่พรรคขวาจัดอย่าง PVV เองก็ได้ลดความร้อนแรงลงในเรื่องนี้ และหันไปโจมตีเรื่องผู้ลี้ภัยและศาสนาแทน

14. แล้วตุรกีมาเกี่ยวอะไรด้วย

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ พื้นที่สื่อทั่วโลกถูกจับจองด้วยข่าวความสัมพันธ์ระหว่างเนเธอร์แลนด์และตุรกี หลังจากทางการเนเธอร์แลนด์ได้ถอนสิทธิการลงจอดของเครื่องบินที่นายเมฟลุท คาวูโซกลู รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกีโดยสารมาด้วย และยังได้สกัดขบวนรถของฟัตมา เบตุล ซายัน คายา รัฐมนตรีกระทรวงนโยบายครอบครัวและสังคมของตุรกี ไม่ให้เข้าสถานกงสุลตุรกี ณ เมืองร็อตเตอร์ดัม ถึงระดับที่ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน ได้ออกโรงวิจารณ์รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ว่า เป็นผู้นิยมในลัทธินาซีและฟาสซิสท์

ประเด็นดังกล่าวถูกทั้งพรรครัฐบาลและพรรค PVV ของนายเกิร์ต ไวล์เดอร์ส หยิบยกขึ้นมาเรียกเสียงสนับสนุน โดยนายมาร์ค รุตเต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ ผู้นำพรรครัฐบาล ได้ยกประเด็นนี้เพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดในสายตาประชาชน จากการที่เขาได้ห้ามนักการเมืองตุรกีเข้าประเทศ ขณะที่นายเกิร์ต ไวล์เดอร์ส ได้ใช้ประเด็นนี้เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนนโยบายต่อต้านชาวมุสลิมของตนเอง

15. ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด

ผลสำรวจล่าสุดจาก Peilingwijzer ระบุว่า พรรค VVD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล อาจจะคว้าที่นั่งไปได้ 24-28 ที่นั่ง ไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจครั้งก่อนหน้า ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดอย่าง Party for Freedom (PVV) น่าจะมีที่นั่งลดลง 1 ที่ เหลือประมาณ 19-23 ที่นั่ง ส่วนพรรค Christian Democrats (CDA) น่าจะคว้าที่นั่งได้ใกล้เคียงกับพรรค PVV ที่ 19-22 ที่นั่ง

อย่างไรก็ดี แม้โพลล์ล่าสุดชี้ว่าพรรครัฐบาลมีคะแนนนำ แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ โดยนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า ชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่แล้วมักชอบตัดสินใจอะไรในนาทีสุดท้าย ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งการเลือกตั้งสหรัฐ และการลงประชามติอังกฤษ ก็ล้วนปรากฏผลลัพธ์ที่ผิดไปจากโพลล์แทบทุกสำนัก ดังนั้นการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันถึงวินาทีสุดท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ